กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--เนคเทค
เอกชนไทยโชว์ศักยภาพซ่อมรถถังเบา M32/Commander Stingray ได้สำเร็จ สามารถลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงจากต่างประเทศได้ อันเป็นผลจากวิสัยทัศน์ที่มองการไกลของกองทัพบกในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศและพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญยังสามารถผลิตชิ้นส่วนสำรองได้เองไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยีแสงเลเซอร์ของนักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค/ สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายกชพงษ์ มหายศนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เค.ซี.พี.แอสโซซิเอท จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อประมาณปี 2545 บริษัทฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในการรับซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก หนึ่งในนั้นคือ ระบบเครื่องควบคุมการยิงที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการทหารที่ลับมาก บริษัทต่างประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของเทคโนโลยีที่ใช้ ทำให้การซ่อมบำรุงเป็นไปด้วยความยากลำบาก อุปกรณ์หลัก 3 ใน 4 ส่วนบริษัทฯสามารถใช้ทีมวิศวกรคนไทยซ่อมบำรุงและจัดทำอุปกรณ์ใหม่ขึ้นทดแทนได้ แต่มีอุปกรณ์ 1 ส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบทั้งหมด คือ ระบบวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Range Finder) มีปัญหาชำรุดบกพร่องและเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ทางด้านแสง และการชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ทางไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ทำงาน ระบบการควบคุมการยิงอื่นๆก็จะไม่สามารถตั้งค่าและควบคุมการยิงอัตโนมัติให้ตรงเป้าหมายอย่างแม่นยำได้ บริษัทฯไม่สามารถหาเทคโนโลยีมาซ่อมอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้จากต่างประเทศเพราะลับมาก จนได้มีโอกาสไปพบกับ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยเนคเทค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีทาง
ด้านแสง ดร.ศรัณย์ และผู้ช่วยนักวิจัย นายชูวิทย์ โภคบุตร ได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ต่างประเทศเขาปิดบัง จนเราสามารถซ่อมบำรุงและแก้ไขได้ด้วยฝีมือของคนไทย ทำให้ระบบเครื่องควบคุมการยิงที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ สามารถทำงานได้ตามขั้นตอนมาตรฐานของรถถังเบา M32/Commander Stingray มีการทดสอบการยิงปืนจากรถถังในหลายลักษณะตามยุทธวิธีการรบ ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ กระสุนปืนเข้าสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ และผู้ปฎิบัติงานภาคสนามมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากในประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่กลับมาเหมือนเดิมเกือบ 99 %
ด้าน ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทคกล่าวว่า เนคเทคได้ให้คำแนะนำข้อมูลทางวิชาการเฉพาะการทำงานของระบบวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Range Finder) ว่ามีคุณลักษณะ จุดอ่อน ข้อจำกัด ปัญหา และการซ่อมบำรุงแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเทคโนโลยีในลักษณะนี้บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขายไม่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ซื้อรับทราบ ส่งผลให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศหรือผู้ขายอยู่ตลอดเวลา หากเกิดปัญหาขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของอุปกรณ์นั้นๆได้ การให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการในครั้งนี้ ตนเองรู้สึกภูมิใจที่คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา และช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศอีกด้วย
สอบถามข้อมูลการซ่อมรถถังได้ที่
นายกชพงษ์ มหายศนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เค.ซี.พี.แอสโซซิเอท จำกัด
หมายเลขโทรศัพท์ 02380 4254-5
หมายเลขโทรสาร 02384 5786
สอบถามข้อมูลการให้คำปรึกษาเทคโนโลยีทางด้านแสงได้ที่
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทค
หมายเลขโทรศัพท์ 025646900ต่อ2102
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025646857 อรรถกร ศิริสุวรรณ