กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับระดับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. เนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ฐานะการเงินของ บตท. เริ่มฟื้นตัวหลังจากการตัดหนี้สูญในปี 2550 จากหนี้ที่มีปัญหา และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดระบบปฏิบัติการภายในให้ลงตัวเพื่อสนับสนุนแผนการขยายธุรกิจ แม้ว่าโครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. จะได้รับการออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อรองรับพันธกิจ แต่อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ก็มีข้อจำกัดจากการมีประวัติผลงานตามพันธกิจในช่วงสั้นๆ เนื่องจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในไม่เพียงพอ และต้นทุนทางการเงินที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของ บตท. สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารปัจจุบันของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและผลประกอบการได้ตามแผน รวมทั้งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า บตท. จะได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลในการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อให้มีอุปสงค์ด้านหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งภารกิจต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาตลาดรองสินเชื่อของประเทศไทยในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บตท. ก่อตั้งปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนประเดิมเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมที่ดิน ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมอีก 4 ตำแหน่ง และ กรรมการและผู้จัดการของ บตท.
บตท. มีพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยมีบทบาทในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของตลาดแรกที่อยู่อาศัย ด้วยการเสริมสภาพคล่องและลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของผู้ให้กู้ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนโดยการทำธุรกรรมแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์และการออกตราสารหนี้ระยะยาว รวมทั้งช่วยให้ประชาชนสามารถขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาวได้มากขึ้น บตท. ยังเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคารพาณิชย์โดยการซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง และขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นปัจจัยจำกัดศักยภาพการเติบโตของ บตท. เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอและมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรง ดังนั้นจึงเลือกที่จะเก็บพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอาไว้เอง นอกจากนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังสร้างผลตอบแทนที่สูงและมีน้ำหนักความเสี่ยงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภคและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ฉะนั้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะบรรลุพันธกิจในการสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อในตลาดแรกโอนพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ บตท. จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บตท. มีเงินลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ โดยเพิ่มจาก 350 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 4,520 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2548 บตท. ได้ตรวจพบความผิดปกติในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยและได้ทำการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในปี 2549-2550 พร้อมทั้งยุติธุรกรรมการจัดซื้อพอร์ตสินเชื่อซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนในลูกหนี้ลดลงเป็น 1,642 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2552 ในปี 2550 บตท. ขายหนี้เสียมูลค่า 2,052 ล้านบาทและบันทึกผลขาดทุน 318 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินลงทุนหลังการขายหนี้เสียลดลงจาก 4,520 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 1,997 ล้านบาทในปี 2550 บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 อันเนื่องมาจากการตั้งสำรองสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 110 ล้านบาทในปี 2549 และ 132 ล้านบาทในปี 2548 ต่อมาในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 บตท. มีผลกำไรสุทธิ 13 ล้านบาท
ผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 และ 9 เดือนแรกของปี 2552 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากระดับ 0.2% ในปี 2550 เป็น 2.5% ในปี 2551 ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนจากระดับ 4.5% ในปี 2550 เป็น 6.9% ในปี 2551 จากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้และการบริหารจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 3.3% แม้ว่าอัตราดังกล่าวจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในระดับ 6.5% ก็ตาม ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอัตราต้นทุนทางการเงินที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีลดลงเป็น 3.2% จาก 4.4% ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม บตท. ยังมีข้อเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่สามารถรับเงินฝากจากประชาชนได้ ซึ่งทำให้ บตท. ไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อระยะยาวอัตราดอกเบี้ยคงที่ให้แก่ผู้ต้องการซื้อบ้านในอัตราที่จูงใจได้
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นซึ่งทำให้ บตท. มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ก็ส่งผลทำให้ บตท. มีความเสี่ยงด้านการตลาดและด้านสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินของ บตท. มีความไม่สมดุลกันเป็นอย่างมากในด้านระยะเวลาที่น้อยกว่า 0-3 เดือน อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2552 บตท. สามารถออกตราสารหนี้ที่มีพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังมูลค่า 420 ล้านบาทซึ่งจะช่วยลดความไม่สมดุลของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินได้ส่วนหนึ่ง
ในปลายปี 2550 บตท. ได้แต่งตั้งกรรมการและผู้จัดการคนใหม่ หลังจากนั้นก็ทยอยรับผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญๆ และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บตท. ได้พัฒนาระบบงานภายในเพื่อลดการปฏิบัติงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและหละหลวมโดยได้กำหนดขั้นตอนการซื้อสินเชื่อและพัฒนาระบบการติดตามหนี้เพื่อควบคุมหนี้ที่มีปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ในปี 2550 ซึ่งลดลงอยู่ที่ระดับ 6.9% จาก 39.8% ในปี 2549 นั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% ในปี 2551 และ 11.6% ในเดือนกันยายน 2552 ดังนั้น ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่มีการขยายพอร์ตเงินลงทุนของ บตท. จึงเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป
บตท. มีระดับเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2548 แต่ลดลงเหลือ 0.23 เท่า ณ สิ้นปี 2550 เมื่อ บตท. ขายหนี้เสียออกไป อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับ 0.25 เท่าในปี 2551 ซึ่งดีกว่าระดับเฉลี่ยที่ 0.84 เท่าสำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง และที่ 1.0 เท่าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6 แห่งในปี 2551 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวทรงตัวอยู่ในระดับ 0.25 เท่า ในขณะที่ระดับเฉลี่ยสำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 0.79 เท่า
บตท. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในเพื่อเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการในระยะยาวด้วย ในขณะที่พอร์ตเงินลงทุนในสินเชื่อนั้นคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการสินเชื่อและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อตามแผนการขยายธุรกิจ ในปี 2553 บตท. มีแผนร่วมกับสถาบันการเงินหลายแห่งในการเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวให้แก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยทำให้ บตท. เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ซื้อบ้านและเพิ่มพอร์ตสินเชื่อให้แก่ บตท. ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความร่วมมือระหว่าง บตท. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการโอนพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยบางส่วนของธนาคารให้แก่ บตท. ในปี 2553 ด้วย สิ่งท้าทายสำหรับ บตท. ในอนาคตคือการบรรลุพันธกิจในฐานะเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยการใช้ระบบบริหารความเสี่ยงและแนวปฏิบัติที่ได้มาตรฐาน ทริสเรทติ้งกล่าว
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท. -- SMC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)