กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ปภ.
วันที่ 22 มีนาคม 2550 นี้ ถือเป็นวันที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่งของการเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่เป็นพลังสำคัญในการปฏิบัติงานช่วยเหลือสังคมและผู้ประสบภัย ที่เรียกว่า “วันอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน” หรือวัน “อปพร.” ที่รู้จักกันในนาม “สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน” หรือ “อปพร.”
โดยตลอดระยะเวลา 28 ปี ที่มีการจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในวันที่ 22 มีนาคม 2522 อปพร. มีผลงานเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นกลุ่มพลังมวลชนที่เสียสละปฏิบัติงานช่วยเหลือสังคมตลอดมา ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเข้าไปปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ผ่านมา สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อปพร. ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติงาน
ด้านสาธารณภัยและอำนวยการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งต้องเสี่ยงภัยอันตรายเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือประเทศชาติ ในการลดความสูญเสียจากเหตุการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้น
หน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เกิดขึ้นจากความต้องการให้ประชาชนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งที่เกิดจากธรรมชาติหรือภัยต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สกัดกั้นและต่อต้านสิ่งต่างๆที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และเป็นภัยต่อประเทศชาติในทุกลักษณะ โดยอาสาเข้ามาเป็นอาสาสมัคร สมาชิก อปพร. ถือเป็นการรวมกำลังอาสาสมัครที่อุทิศกำลังแรงใจและแรงกายในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนในประเทศ ซึ่งภารกิจบทบาทของ อปพร.
มิได้มีเฉพาะในยามที่ประเทศชาติประสบภัยพิบัติเท่านั้น หากแต่ในช่วงเวลาปกติ อปพร. ก็จะทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย แจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งเป็นกำลังหลักในการอพยพ ช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดภัยพิบัติ โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ หวังเพียงแต่จะสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมและประเทศชาติเท่านั้น
ปัจจุบันสมาชิก อปพร.ทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 861,070 คน ได้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อปฏิบัติงานด้านสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะศูนย์ อปพร.กลาง ได้มีนโยบายสำคัญที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย โดยการกำหนดเป้าหมายให้แต่ละจังหวัดมีการฝึกอบรม อปพร. และเพิ่มจำนวนสมาชิก อปพร. ในแต่ละจังหวัดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรภายในปี 2550 ซึ่งในขณะนี้มี 10 จังหวัดที่สามารถดำเนินการอบรมเพิ่มจำนวนสมาชิก อปพร.ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อุตรดิตถ์ นครพนม เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร ตราด น่าน ชุมพร แพร่ และหนองบัวลำภู และกระทรวงมหาดไทยวางแผนว่าจะดำเนินการฝึกอบรมสมาชิก อปพร.ให้ครบ 1 ล้านคน ต่อไป
สำหรับปี 2550 นี้ ศูนย์ อปพร.กลาง ได้ร่วมกับกรุงเทพฯ จัดงาน “วัน อปพร.” ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2550 เวลา 10.00 — 18.00 น. ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง กรุงเทพฯ เพื่อเชิดชูเกียรติ อปพร. และแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบต่อสังคม ในการปฏิบัติงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อประเทศชาติของเหล่าสมาชิก อปพร.โดยมีการจัดกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีชุมนุมสวนสนามของ
สมาชิก อปพร. กว่า 20,000 คน พิธีมอบรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ศูนย์ อปพร.ดีเด่น 49 ศูนย์ และเข็มเชิดชูเกียรติแก่สมาชิกอปพร. ดีเด่น จำนวน 162 คน การจัดนิทรรศการ การแสดงสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนมากมาย กล่าวได้ว่า อปพร. ถือเป็นพลังที่มีความสำคัญของภาครัฐ ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือสังคม และช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความรุนแรงและลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และนับได้ว่า อปพร. เป็นเครือข่ายหนึ่งที่มีศักยภาพในการรวมพลังความสามัคคีของประชาชนในการพัฒนาความมั่นคงของประเทศชาติ และเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกแนวทางหนึ่งด้วย