กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--iTAP
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
น้องใหม่วงการอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เอ็ม.ที.ไดนาสตี้ นำเศษเหลือใช้อลูมิเนียมวันละ 12 ตัน บุกเบิกทำ “เฟอร์นิเจอร์อลูมิเนียม” เปลี่ยนเศษเหลือเป็นเฟอร์นิเจอร์สวยกว่า 20 รายการ
เผยร่วมงานกับ iTAP ช่วยสร้างสรรค์แนวความคิดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากอลูมิเนียมล้วนๆที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ลดพลังงานในการหลอมใหม่ ลดพื้นที่กำลังคนในการจัดเก็บและคัดแยกเศษเหลือ มองอนาคตร่วมออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากเศษต่างๆกับบริษัทพันธมิตร ต่อยอดการนำเศษวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้นำอุตสาหกรรมอลูมิเนียมแนวหน้าของประเทศอย่าง บริษัท เมืองทองอุตสาหกรรมอาลูมีเนียม จำกัด ผลิตอลูมิเนียมมากว่า 30 ปีโดยมีผลิตภัณฑ์ เช่น กรอบประตู หน้าต่าง ลายไม้ โครงสร้างต่างๆ และมีกำลังผลิตประมาณ 1,500 ตันต่อเดือน ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้ารับเหมาก่อสร้าง เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ฯลฯ จำหน่ายในประเทศ 95 % และส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอีก 5%
จากการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอลูมิเนียมยังได้แตกหน่อบริษัทในเครือไฟแรงอย่าง เอ็ม.ที.ไดนาสตี้ น้องใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ และยังเป็นผู้บุกเบิกการทำเฟอร์นิเจอร์จากเศษอลูมิเนียมรายแรกของไทย
นายพีรพล ธนทวี ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอ็ม.ที.ไดนาสตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในการผลิตแต่ละวัน ทำให้มีเศษเหลือจากการผลิตเป็นจำนวนมากและหลากหลาย เช่น เศษเหลือจากการตัดชิ้นงาน ชิ้นส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยเฉพาะเศษอลูมิเนียมเหลือทิ้งออกมาประมาณวันละ 12 ตันหรือมูลค่าประมาณ 1ล้านบาทต่อวันเลยทีเดียว
ปัจจุบันแม้จะสามารถรีไซเคิลเศษเหลือใช้เหล่านี้ได้ แต่ยังพบว่าต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการนำมาหลอมใหม่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังต้องเสียพื้นที่จำนวนมากในการจัดเก็บ และเสียกำลังคนในการคัดแยกและดูแลรักษา ดังนั้นจึงพยายามหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือใช้เหล่านี้ด้วยแนวคิดของการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ผู้จัดการโครงการ เอ็ม.ที. ไดนาสตี้ กล่าวว่า เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการ เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ จากการสนับสนุนของ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญ iTAP ได้แก่ อาจารย์สิงห์ (ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต) เข้ามาศึกษาดูงานในโรงงานเพื่อเก็บรายละเอียดของเศษวัสดุต่างๆในระยะแรก
“ เนื่องจากการทำงานบางส่วนจะมีการตัด เชื่อม ซึ่งก่อนหน้านี้กระบวนการผลิตของบริษัทฯไม่ได้มีฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ การออกแบบครั้งแรกจึงต้องไปฝากกับแผนกประกอบโดยที่ผ่านมาแผนกนี้ผลิตที่จอดเรือยอร์ชตามออร์เดอร์ของลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้สามารถหยิบยืมเครื่องมือโดยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เมื่อเริ่มต้นการทำงาน ทีมอาจารย์เข้ามาร่างแบบเฟอร์นิเจอร์อลูมิเนียม บางครั้งเรากลัวไม่แข็งแรงก็ไปทำคานเสริมเพิ่มขึ้น ทำให้แบบออกมาไม่เหมือนครั้งแรกเลยก็มี เนื่องจากวัสดุอลูมิเนียมทั้งเราและทีมอาจารย์ก็ยังไม่เคยลองออกแบบกันมาก่อนจึงต้องปรับการทำงานร่วมกัน และกลายเป็นงานจริงจังโดยแยกเป็นแผนกการตลาดและพัฒนาธุรกิจขึ้นมา ”
นายนิพัฒน์ ประสิทธิ์เขตกัน วิศวกร แผนกการตลาดและพัฒนาธุรกิจ กล่าวด้วยว่า ครั้งแรกที่ออกแบบยังมีความเป็นวิศวกรรมอยู่มากจึงไม่ได้เน้นความสวยงาม แต่เมื่อร่วมงานกับทีมผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบไประยะหนึ่งก็เริ่มมีความคิดในการออกแบบให้สวยงามและมีประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมกัน
“ตัวอย่างการออกแบบที่ประทับใจ คือ Weight หรืออุปกรณ์ยกน้ำหนัก ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกคนว่าคืออะไร โดยทำมาจากก้อนอลูมิเนียม อันนี้เป็นไอเดียของอาจารย์ว่าอยากทำอะไรที่น่ารักๆจึงออกแบบทำที่ยกน้ำหนัก ว่างๆ ก็เอามายกเล่นออกกำลังกายและยังวางไว้แต่งบ้านได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบจากเศษอลูมิเนียมหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่น โคมไฟ ม้านั่ง โต๊ะ หรือชั้นวางหนังสือ ฯลฯโดยได้มีการนำมาแสดงผลงานครั้งแรกในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ 2553 หรือ TIFF 2010 โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จากอลูมิเนียมมาแสดงในงานดังกล่าว 14 รายการ จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบจำนวนทั้งหมด 20 รายการ
ตัวอย่างผลงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากการนำเศษอลูมิเนียม(Aluminum Scrap) ซึ่งเป็นการนำอลูมิเนียมเส้นมาอัดเป็นก้อน ทั้งนี้การอัดเป็นก้อนเพื่อลดปริมาตรของเศษเหลือใช้เหล่านี้ก่อนนำเข้าเตาหลอมและช่วยให้ประหยัดพื้นที่ในเตาหลอม โดยได้นำเศษอลูมิเนียมหรือก้อน Scrap มาทำเป็นเก้าอี้
วิศวกร แผนกการตลาดและพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯจะเน้นสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์และถือเป็นเจ้าแรกๆของเมืองไทยที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากอลูมิเนียม 100% ซึ่งมาจากการที่บริษัทฯมีวัตถุดิบคือ อลูมิเนียม เป็นหลัก
ตัวแทนจากแผนกการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ยังมองว่า แม้อลูมิเนียมจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในอนาคตหากได้รับการตอบรับอาจมีการติดต่อผ่านบริษัทพันธมิตรที่มีเศษเหลือใช้ ทั้งจากไม้หรือเหล็กและวัสดุอื่นๆเข้ามาผสมกัน เพื่อให้เฟอร์นิเจอร์ที่ได้มีความสวยงามและหลากหลายมากขึ้น โดยเบื้องต้นมีเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบเป็นเก้าอี้จากเศษอลูมิเนียมและเศษไม้(จากบริษัทอุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด)ซึ่งได้รวมวัสดุทั้งสองชนิดมาออกแบบเป็นม้านั่งที่สวยงามแข็งแรง ร่วมแสดงในงานดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่า การทำงานร่วมกับ iTAP ทำให้เกิดการเรียนรู้ในการนำเศษอลูมิเนียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้รับประสบการณ์จากการทำงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์อลูมิเนียมซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สามารถจุดประกายแนวความคิดในการนำอลูมิเนียมมาใช้ในงานได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งหากไม่ทำงานนี้อาจนึกไม่ถึงว่าจะสามารถพลิกเศษเหลือใช้เหล่านี้ให้กลายร่างเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามได้อย่างไร
การต่อยอดในอนาคตจึงต้องการนำเศษวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมองว่าจะเป็นความท้าทายในการทำงานต่อไป
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP
ติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1368 และ 1381