กทม. ระดมแนวคิด จัดเสวนาเรื่อง “ชาวกรุงเทพฯกับการเดินทางในทศวรรษหน้า”

ข่าวทั่วไป Friday April 2, 2010 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. จัดเสวนาเรื่อง ชาวกรุงเทพฯกับการเดินทางในทศวรรษหน้า เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินทางอย่างยั่งยืนในอนาคต หวังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทาง จากการใช้รถส่วนตัวสู่การใช้ระบบขนส่งมวลชน พร้อมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบหลักและระบบรอง เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “การขนส่งอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ จะเป็นจริงได้อย่างไร” โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสวนา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 8 โรงแรมอิสติน เขตมักกะสัน กทม. การเสวนา เรื่อง “การขนส่งอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ จะเป็นจริงได้อย่างไร” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนของคนกรุงเทพฯ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 200 คน โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การขนส่งอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำเสนอเรื่อง “ระบบขนส่งมวลชน…ระบบขนส่งอย่างยั่งยืน” และรศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่อง “ผังเมืองยุคอนาคต : ลดใช้รถ ลดใช้พลังงาน” สำหรับในช่วงบ่ายจะเป็นการนำเสนอหนังสือ เรื่อง “ชาวกรุงเทพฯกับการเดินทางในทศวรรษหน้า” โดยนางพิมพ์ใจ ยุทธบรรดล หัวหน้าคณะผู้จัดทำหนังสือ จากนั้นจะเป็นเสวนา เรื่อง “การขนส่งอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ จะเป็นจริงได้อย่างไร โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ไมตรี ศรีนราวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม และผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าฟังการเสวนาร่วมให้ความคิดเห็นด้วย สำหรับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร มีระบบหลัก คือรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายประมาณ 43 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กม., และสายวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กม. เปิดให้บริการปี 2554 และกำลังเตรียมการก่อสร้างสายหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12.1 กม.และสายแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กม. รวมทั้งสายสนามกีฬาฯ-พรานนก ระยะทาง 7.7 กม. ส่วนระบบรอง ได้แก่ รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT รวมระยะทางประมาณ 35.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15.9 กม โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 และสายหมอชิต-ศูนย์ราชการ ระยะทาง 20 กม.เปิดให้บริการปี 2555 นอกจากนี้ยังมี รถไฟฟ้าขนาดเบา(Light Rail)/ และ Mono Rail ระยะทางประมาณ 36.4 กิโลเมตร (สายสยาม-จุฬา ระยะทาง 2 กม., สายศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2-ถ.รางน้ำ-ถ.โยธี ระยะทาง 5 กม.,สาย ม.รามคำแหง- ซ.ทองหล่อ ระยะทาง 11.1 กม. และ สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะทาง 18.3 กม.) และระบบการเดินเรือในคลอง 40 กิโลเมตร (คลองแสนแสบและส่วนต่อขยาย ระยะทาง 17 กม. และ 11 กม., คลองภาษีเจริญ ระยะทาง 12 กม.) เป็นต้น ทั้งนี้แผนงานและแนวคิด สู่การขนส่งอย่างยั่งยืน มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ “ชาวกรุงเทพฯ การเดินทางในทศวรรษหน้า” ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้น จำนวน 10,000 เล่ม โดยกรุงเทพมหานครจะมอบให้สถาบันการศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การเดินทางอย่างยั่งยืนของคนกรุงเทพฯ ต่อไป รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมุ่งหวังที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางในทศวรรษหน้าของชาวกรุงเทพฯ จากการใช้รถส่วนตัวสู่การใช้ระบบขนส่งมวลชน โดยกรุงเทพมหานครได้ทำการศึกษาและวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งในระบบหลักและระบบรอง เพื่อรองรับและส่งเสริมการเดินทางของคนกรุงเทพฯ สู่การขนส่งอย่างยั่งยืน เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ