กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--สสวท.
ปิดเทอมใหญ่กันแล้ว ผู้ปกครองต่างก็พากันหาค่ายวิชาการ หรือค่ายเสริมทักษะต่าง ๆ ให้แก่บุตรหลาน ส่วนสถานศึกษานั้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดกิจกรรมเสริมความรู้ให้แก่คุณครูและนักเรียนด้วยการไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมนอกสถานที่ตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งใกล้ และไกลโรงเรียน ตามแต่โอกาสและปัจจัยจะอำนวย
ปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อนปีนี้ โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟ ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอ หนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ได้พาคุณหนู ๆ ทั้งวัยเด็กและวัยรุ่น ตั้งแต่ชั้น ป. 4- ม. 3 และคณะครู จำนวน 105 คน เดินทางศึกษาดูงานที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 โดยผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำขบวนครูและนักเรียนมาด้วยตนเอง และ ดร. รวิวรรณ เทนอิสสระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. เป็นผู้ ให้การต้อนรับด้วยตนเอง
การเดินทางครั้งนี้ ชาวคณะได้พักค้างคืนในรถ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ คณะครูและนักเรียนนั่งรถบัสออกจากโรงเรียนตั้งแต่สองทุ่มของคืนวันที่ 31 มีนาคม 2553 ถึง สสวท. ในตอนเช้าวันที่ 1 เมษายน 2553 หลังจากดูงานที่ สสวท. แล้วได้จัดโปรแกรมพานักเรียนไปดูดาว รอบ 11.00 น. ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ จากนั้นช่วงบ่าย ไปเรียนรู้ที่สวนหลวง ร. 9 แล้วเดินทางกลับโรงเรียนในตอนเย็นของวันนั้นเลย
อาจารย์เจริญ เหล่าประเสริฐ คุณครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนชุมชนกุดหมากไฟ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการศึกษาเรียนรู้ครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า นักเรียนที่พามาเรียนรู้ในครั้งนี้ มีจำนวน 80 คน ตั้งแต่ชั้น ป. 4 —ม. 3 โดยคัดเลือกจากผลงานและความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนจะจัดศึกษาดูงานทุกปี ปีละ 1 ครั้ง แต่ปีนี้พิเศษหน่อย ได้จัดให้เด็กๆ ดูงาน 2 ครั้ง
โดยการดูงานครั้งแรก ได้ไปเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน สถาบันวิทยาศาสตร์ ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ที่ผ่านมา ส่วนการเดินทางมาดูงานครั้งนี้ อบต. กุดหมากไฟ สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร และทางโรงเรียนจ่ายเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง และได้งบประมาณ SP2 โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนที่มีผลการประเมินคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย
“การเดินทางมาศึกษาดูงาน ทำให้เด็ก ๆ ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งการเรียนรู้ นอกเหนือจากที่เขาได้เรียนรู้ในห้องเรียน และครูก็ได้เพิ่มประสบการณ์ให้แก่ตัวเอง เพราะอยู่โรงเรียน ได้ศึกษาจากหนังสือ ตำราต่าง ๆ แต่พอได้มาเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ จะได้รับความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมด้วย” อาจารย์เจริญกล่าว
ถึงแม้ว่าคุณครูและเด็ก ๆ จะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล แต่ความกระตือรือร้นสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้ลดน้อยลงเลย เพราะพวกเขา เห็นคุณค่าของการเดินทาง เพื่อมา “เรียนรู้” เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ที่นานๆ ครั้ง จะได้มีโอกาสเช่นนี้ กลับไปอย่างเต็มที่
มาเรียนรู้ที่ สสวท. ครั้งนี้ คณะครูได้ศึกษาสื่อ อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในห้องนิทรรศการ สสวท. ซึ่งคุณครูได้ให้ความสนใจ ทดลองใช้ และซักถามนักวิชาการที่มาต้อนรับให้คำอธิบายแก่ผู้มาดูงาน นอกจากนั้นคุณครูยังได้รับสื่อ อุปกรณ์และหนังสือบางอย่างกลับไปใช้ที่โรงเรียนด้วย
ในส่วนของนักเรียนนั้น สสวท. ได้จัดเตรียมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ และ Science Show จากอาจารย์ราม ติวารี รักษาการหัวหน้าสาขาฟิสิกส์ สสวท. และคณะไว้ต้อนรับ นอกจากนั้นยังมีของรางวัลเป็นสื่อการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ไว้แจกครบสำหรับทุกคน
กิจกรรมที่จัดเตรียมไว้ให้เด็ก ๆ เช่น การเรียนรู้จากไข่ ให้นักเรียนทายว่า ไข่ต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปากขวดแก้ว จะลงไปในขวดได้หรือไม่ ? โดยการนำขวดแก้วใส่น้ำไปต้ม มีหลักการคือเมื่อน้ำเดือดไข่ต้มที่วางบนปากขวด เคลื่อนไหวเหมือนเต้นระบำได้ โดยเมื่อน้ำเดือด จะมีการเปลี่ยนสถานะของน้ำในขวดจากของเหลว เป็นไอน้ำ ซึ่งทำให้เกิดแรงดัน แรงดันเพิ่ม และไอจะเคลื่อนที่ออกจากขวดให้ได้ ทำให้ไอน้ำดันไข่ที่อยู่ปากขวดขึ้น และน้ำหนักไข่ดึงลง จึงทำให้ขึ้น ๆ ลง ๆ กลายเป็น “ไข่ต้มเต้นระบำ”
จากนั้น เมื่อปล่อยให้ไอน้ำเย็นตัวลง มีการควบแน่น ทำให้แรงดันลดลง จึงทำให้แรงดันในขวดมีน้อยกว่าแรงดันในบรรยายกาศ นี่แหละ ! จึงทำให้ไข่ต้มไหลลงจากปากขวดเข้าไปอยู่ในขวดได้
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์อีกเยอะแยะมากมาย เช่น วิธีการพิสูจน์ไข่ดิบกับไข่ต้มด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ หลักการของแบร์นูลลี ลูกโป่งและดอกกุหลาบกับไนโตรเจนเหลว ฯลฯ ซึ่งหลายกิจกรรม เหมือนมีมนต์สะกดให้ทุกคนนะจังงัง หันมาลุ้นกับการทดลอง จนไม่กระพริบตากันเลยทีเดียว
เด็กชายทรงศักดิ์ โทฮาด น้องเอ ชั้น ม. 2 บอกว่า ดีใจครับที่ได้มาดูงานที่ สสวท. ชอบกิจกรรมทุกอย่างเลย ชอบการทดลองดอกกุหลาบแช่งแข็งครับ
เด็กหญิงธัญญารัตน์ ตาบิน น้องเซ็น ชั้น ม. 3 เล่าว่า มาเรียนรู้ครั้งนี้ ได้รู้เรื่องความดันอากาศ ไอน้ำ ได้ความรู้หลายอย่างกลับไป
เด็กชายสัจจพล ภาโนมัย น้องพล ชั้น ป. 6 ซึ่งกำลังหอบหิ้วของเล่นและสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับจาก สสวท. ออกจากห้องจัดกิจกรรมพอดี บอกว่า ชอบกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่อาจารย์รามโชว์ให้ดูครับ สนุกดี ชอบไข่เต้นระบำ อยากให้โรงเรียนจัดกิจกรรมแบบนี้อีก การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน คุณครูได้จัดให้มีการเรียนรู้ ปฏิบัติ ทดลองด้วย เช่น การทดลองเกี่ยวกับวงจรชีวิตของลูกอ๊อด แต่การได้ดู Science Show ครั้งนี้ เป็นการดูการแสดง Science Show ครั้งแรกของผมเลยครับ
เด็กชายชินกร ดิษฐะเนตร น้องเติ้ล ชั้น ป. 6 เดินควงคู่มากับน้องพล เล่าว่า ชอบกิจกรรมที่อาจารย์รามเลี้ยงลูกบอลด้วยความดันอากาศ อยากให้โรงเรียนจัดให้นักเรียนได้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์บ่อยๆ เพราะผมชอบทำครับ
จากการสังเกตการณ์กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเฝ้าไต่ถามความรู้สึกของ เด็ก ๆ หลายครั้ง พบว่า เด็กเล็กหรือเด็กโต ไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองใหญ่ หรือเด็ก ๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล เมื่อพวกเขาได้มีส่วนร่วมในการทดลอง ก็จะเข้าร่วมให้ความสนใจ และสนุกสนานทุกครั้ง
จึงอาจเป็นข้อพิสูจน์อีกส่วนหนึ่งได้ว่า การชักนำเรื่องใกล้ตัว เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันมาจัดกิจกรรมให้นักเรียน สามารถจูงใจให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้อย่างมีความสุขและรักในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น