กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--ไอบีเอ็ม
โครงการส่งเสริมการศึกษาผ่านระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา สามารถพัฒนาทักษะและความรู้ทางเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอม ด้วยซอฟต์แวร์และคอร์สเวิร์กชั้นนำของไอบีเอ็ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ภายใต้โครงการอคาเดมิค อินิทิเอทีฟ (Academic Initiative) เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์แก่คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมีโอกาสเข้าถึง ทดลองใช้ หรือศึกษาคอร์สเวิร์คชั้นนำของไอบีเอ็มผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องต้องติดตั้ง ดูแลรักษาซอฟต์แวร์หรือคอร์สเวิร์กต่าง ๆ หรือเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด การเปิดตัวโครงการดังกล่าวนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะของตน เพื่อนำไปพัฒนาระบบงานในด้านต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตลาดแรงงานที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญทางด้านไอที รวมทั้งช่วยเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันของประเทศไปพร้อม ๆ กัน
ปัจจุบัน เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งถือเป็นรูปแบบการใช้งานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปิดโอกาสให้การเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้าน ทำได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น คลาวด์ คอมพิวติ้งยังมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดย่อมไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ในธุรกิจหลากหลายประเภทอีกด้วย
สำหรับโครงการนำระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มาใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษานี้เอง ไอบีเอ็มคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น
- เปิดโอกาสให้คณาจารย์สามารถใช้ระบบคลาวด์ของไอบีเอ็มเป็นเครื่องมือเพื่อใช้สอนให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ทักษะการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการข้อมูล การใช้งานเทคโนโลยีเว็บ 2.0 หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ฯลฯ เป็นต้น
- นิสิต นักศึกษา และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จะได้มีโอกาสเข้าถึง ทดลองใช้ ซอฟต์แวร์และศึกษาเนื้อหาหลักสูตรชั้นนำของไอบีเอ็มได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- สถานศึกษาก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งเพื่อผนวกรวมหลักสูตรไอทีใหม่ๆ เข้ากับวิชาอื่น ๆ ของสถาบัน รวมทั้งเพิ่มความสะดวกในการเรียนรู้เป็นกลุ่มและการเรียนรู้ทางไกลสำหรับนักศึกษา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้สถาบันนำเอาทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีของที่มีอยู่ไปใช้ในงานด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย
นางเจษฏา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน ปัญหาด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญทางด้านไอทีในตลาดแรงงาน ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง เพราะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศฯ ไอบีเอ็มให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และมีกิจกรรมที่สนับสนุนการศึกษาในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง” นอกจากนั้น นางเจษฎา ยังกล่าวเสริมอีกว่า “สำหรับการเปิดตัวโครงการคลาวด์ คอมพิวติ้งเพื่อส่งเสริมการศึกษานี้ ไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ในการพัฒนาทักษะ ความรู้ทางด้านไอที อีกทั้งส่งเสริมการใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนนี้ และใช้โอกาสนำความรู้และทักษะดังกล่าวไปพัฒนาระบบงานในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต”
ในเบื้องต้น ไอบีเอ็มได้ร่วมงานกับสถาบันอุดมศึกษากว่า 20 แห่งในสหรัฐอเมริกาเพื่อนำระบบคลาวด์ไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางด้านวิชาการ (Academic Skills Cloud) หลังจากนั้น ก็มีแผนที่จะขยายโครงการดังกล่าวไปสู่สถานศึกษาอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
ในโครงการดังกล่าว ไอบีเอ็มเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึง ทดลองใช้ ซอฟต์แวร์ชั้นนำต่าง ๆ ของไอบีเอ็มมากมาย ผ่านโครงการดังกล่าว อาทิ เช่น
- เรชันแนล ซอฟต์แวร์เครื่องมือในการพัฒนาแอพพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรชันแนล แอพพลิเคชัน เดเวลอปเปอร์ เรชันแนล ทีม คอนเสิร์ท เรชันแนล ซอฟต์แวร์ อาคิเทค เป็นต้น
- เว็บสเฟียร์ ซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนระบบงานและขั้นตอนทางธุรกิจ เช่น เว็บสเฟียร์ แอพพลิเคชัน เซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์ ที่ใช้ในการบริหารจัดการฐานข้อมูล เช่น ซอฟต์แวร์ ดีบีทู หรือ อินฟอร์มิกซ์ เป็นต้น
ในอนาคตอันใกล้ ไอบีเอ็มมีแผนที่จะนำซอฟต์แวร์ระดับโลกอื่น ๆ เข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย เช่น ค๊อกนอส โลตัส และ ทิโวลี เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอคาเดมิค อินิทิเอทีฟ (Academic Initiative) ของไอบีเอ็ม หรือโครงการคลาวด์ คอมพิวติ้งเพื่อการศึกษา สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/academicinitiative หรือ www.ibm.com/university/cloud
เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์: 02 273 4117 อีเมล์:werakit@th.ibm.com