กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ 6 เมษายน 2553 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงวางพานพุ่ม จุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะ ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ณ ลานชานชาลาเชิงสะพาน พระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร โอกาสนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนส่วนราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
ทั้งนี้วันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ “วันจักรี” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยทรงตั้งพระปณิธานไว้ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะปกป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” ซึ่งทุกปีกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณลานชานชาลาเชิงสะพาน พระพุทธยอดฟ้า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็น ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี อันมีคุณอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยเมื่อเวลา 16.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการกรุงเทพมหานคร ได้วางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการสงคราม ทรงรวบรวมพระราชอาณาจักรได้เป็นปึกแผ่น โดยในรัชสมัยของพระองค์ อาณาเขตของไทยขยายออกไปกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ รวมถึงการป้องกันประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากอย่างมาก ต้องอาศัยทั้งพระปรีชาสามารถและทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากแต่ก็สามารถทำให้สำเร็จลงได้ ด้านศาสนา ทรงโปรดให้ประชุมสังคยานาพระไตรปิฎก และจารึกเป็นอักษรขอมลงบนใบลาน เรียกว่า “พระไตรปิฎกหลวง ฉบับทองใหญ่” ด้านการปกครอง ทรงให้ตรวจชำระกฎหมายขึ้นใหม่เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” และด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านสาขาต่างๆ ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม งานช่างปิดทองรดน้ำ งานช่างประดับมุก งานช่างเขียน งานแกะสลัก เป็นต้น ด้วยมีพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูประเทศขึ้นมาให้มีความรุ่งเรืองสง่างามเท่าเทียมกับกรุงศรีอยุธยาราชธานีเก่า ภายหลังจากได้ทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ และทรงฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขุดลอกคูคลอง วัดวาอารามต่างๆ ทั้งที่สร้างขึ้นมาใหม่และที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ดังนั้นในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 ปวงชนชาวไทยจึงได้ ถวายพระราชสมัญญาว่า "มหาราช" ต่อท้ายพระนามาภิไธย ด้วยประชาชนทั้งหลายนั้นได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการที่ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นดินไทย