กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สวทช.
ปัจจุบันประชากรโลกกำลังตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อนอันสืบเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง ในหลายประเทศจึงได้รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคขนส่งและคมนาคมโดยหันมาใช้พลังงานทดแทนในรูปของพลังงานไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้าจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของที่ทุกฝ่ายรวมทั้งผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ
นายประกิต เลิศเยาวฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอลเอ อี-ไร้ด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทแอลเอฯ รับจ้างผลิตสกูตเตอร์และจักรยานไฟฟ้าให้กับประเทศสหรัฐอเมริกามาตลอด 10 ปี โดยในส่วนของแอลเอฯ จะรับทำฮาร์ดแวร์ทั้งหมด แต่ระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นสมองกลควบคุมการทำงานและแบตเตอรี่นั้นต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ กระทั่ง 5 ปี ให้หลังมานี้พบว่าผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น และยังมีความพยายามนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาจะแพงขึ้น
ขณะเดียวกันปริมาณน้ำมันดิบเริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ สกูตเตอร์และรถจักรยานไฟฟ้าจึงเป็นพาหนะอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรปกลาง ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ซึ่งถือเป็นตลาดหลักและมีกำลังซื้อ ปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวไปตามกระแส ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีแนวโน้มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงได้จริง
บริษัทฯ จึงเข้ารับความช่วยเหลือจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านเงินทุนและได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล อาจารย์/นักวิจัย คณะบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติสิริธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้ามาแนะนำให้ความรู้ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโครงการ “การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่”
โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาและทดสอบเพื่อต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะของรถจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลีเธียม —ไอออน เนื่องจากแบตเตอรี่จะคงทน ปลอดภัย สามารถใช้งานได้นานนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุในการประกอบแบตเตอรี่ รวมถึงสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ในขณะขับขี่ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงออกแบบการทำงานของจักรยานไฟฟ้า ให้ได้สมรรถนะที่เหมาะสมกับการใช้งาน สภาพภูมิอากาศและสอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้โครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
สำหรับจุดเด่นของรถจักรยานไฟฟ้าและสกูตเตอร์ คือ การใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และยังมีระยะการขับขี่ต่อการอัดประจุหนึ่งรอบไม่น้อยกว่า 20กิโลเมตรโดยไม่ปล่อยไอเสียหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถจักรยานไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เพราะสามารถใช้แรงคนปั่นหรือใช้พลังงานไฟฟ้าทำให้รถจักรยานขับเคลื่อนได้ตามต้องการ
นายประกิต กล่าวอีกว่า ตลาดรถจักรยานไฟฟ้าในประเทศไทยยังแคบเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ประกอบกับเราสู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบางอย่างไม่ได้ แอลเอฯ จึงทำหน้าที่รับจ้างผลิตและส่งขายแทน แต่ก็มีคู่แข่งสำคัญ อย่างประเทศจีนที่ผลิตรถจักรยานไฟฟ้าราคาถูกออกมาตีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยอมรับว่าเราแพ้ในด้านราคา แต่ความสม่ำเสมอและความมีมาตรฐานประเทศจีนสู้ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้ ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของคนไทย ดังนั้นการได้ iTAP มาช่วยก็เพื่อพัฒนาคุณภาพของชิ้นส่วนในการผลิตให้ดียิ่งๆ ขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ในแง่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่ากลางปี 2553 นี้ ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของบริษัทจะเป็นสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
ด้าน ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและการดูแลรักษาแบตเตอรี่ตะกั่วกรดและลิเธียม-ไอออน ซึ่งพบว่าบริษัทแอลเอฯ ได้สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด เมื่อนำมาเก็บรักษาไว้นานจะทำให้เสื่อมสภาพหรือหมดอายุไปโดยที่เราเองไม่ทราบหากไม่มีการตรวจสอบก่อนนำไปประกอบเป็นรถจักรยานไฟฟ้า ปัญหาของแบตเตอรี่นำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถจักรยานไฟฟ้าทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขดัดแปลงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางบริษัทไม่สามารถกระทำได้เพราะติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ และความยุ่งยากในการประสานงาน
การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องดูในภาพรวมทั้งหมดของรถจักรยานไฟฟ้าเพื่อหาจุดอ่อน จุดแข็ง ก่อนนำเทคโนโลยีเข้ามาค่อยๆ พัฒนาสร้างจุดแข็งให้ผลิตภัณฑ์ กระทั่งมีความเห็นว่า “คอนโทรลเลอร์” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับมอเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่เป็นหัวใจและสมองควบคุมการทำงานของจักรยานไฟฟ้าทั้งหมด คุณภาพของจักรยานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความสามารถของคอนโทรลเลอร์ในควบคุมการทำงานของมอเตอร์ให้มีสมรรถนะตามความต้องการของผู้ใช้และสามารถควบคุมกระแสไฟฟ้าให้ไหลเข้าออกในแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กุญแจสำคัญในเบื้องต้นสำหรับการผลิตจักรยานไฟฟ้า คือการพัฒนาและผลิตคอนโทรลเลอร์ขึ้นด้วยตนเอง เพราะจะทำให้สามารถควบคุมคุณภาพหลักของจักรยานไฟฟ้าและสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆได้เอง เปรียบเหมือนบริษัทผลิตรถยนต์ที่ต้องผลิตและพัฒนาเครื่องยนต์เอง การมีความสามารถในการเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ต้นด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันจากผู้ตามมามีส่วนในการนำทิศทางของตลาด ต่างจากอดีตที่เราไม่สามารถพัฒนาหรือปรับแต่งได้ผลิตภัณฑ์ได้เพราะต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านั้นจากต่างประเทศ” ดร.นิสัย กล่าว
จากผลลัพธ์ที่ได้ในโครงการแรก การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จึงได้มีการดำเนินโครงการที่สองเพื่อพัฒนาคอนโทรลเลอร์ขึ้นมาเอง ซึ่งในขณะนี้ต้นแบบได้ถูกพัฒนาขึ้นและกำลังถูกทดสอบสมรรถนะการทำงาน ในอนาคตอันใกล้ก็จะเริ่มดำเนินการวางแผนการผลิตคอนโทรลเลอร์ครั้งละจำนวนมากๆ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อรองรับการผลิตรถจักรยานไฟฟ้าสำหรับตลาดต่างประเทศ โครงการนี้มีระยะการดำเนินงาน 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนศกนี้
บริษัทฯได้เข้าร่วมดำเนินงานกับ iTAP ภายใต้กรอบโครงการที่กล่าวมาข้างต้น ภายใต้ชื่อ โครงการการศึกษาและพัฒนาชุดควบคุม(Controller)จักรยานไฟฟ้าเพื่อการผลิตในประเทศไทย ส่วนที่ 1: การออกแบบสร้างวงจรควบคุมและจัดเตรียมระบบทดสอบ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาออกแบบพัฒนาและทดสอบชุดควบคุมจักรยานไฟฟ้า โดยพัฒนารูปแบบและคุณลักษณะของชุดควบคุมจักรยานไฟฟ้าอ้างอิงตามผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ประกอบจากผลการทดลองของโครงการการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในโครงการแรก
ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานทดสอบประสิทธิภาพ คาดว่าผลของโครงการนี้จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การต้องนำเข้าชิ้นส่วนบางอย่างจากต่างประเทศ ความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ทำให้สามารถพัฒนาชุดควบคุมจักรยานไฟฟ้าเพื่อเป็นแนวทางการผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต
กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอลเอ อี-ไร้ด์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมองว่า การเข้ารับการสนับสนุนจาก iTAP ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลและถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมไปด้วยเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญ ทำให้บริษัทฯสามารถเสริมเขี้ยวเล็บ สร้างศักยภาพทางการแข่งขันในต่างประเทศต่อไปได้
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP
ติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1389