“จิตสาธารณะ” วัคซีนกลับใจคืนเด็กดีสู่สังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday April 7, 2010 13:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสยามกัมมาจล สีสันเทศกาลสงกรานต์ใกล้เข้ามาทุกที วันหยุดของพี่น้องคนไทยหลายคนที่จะได้กลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันแห่งครอบครัว เป็นสถาบันแรกเริ่มที่กระตุ้นภูมิต้านทานให้เราดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าบางครั้งเส้นทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป หลายต่อหลายครั้งที่ความเป็นเด็กทำให้เราพลาดพลั้งเดินไปในทางที่ผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความมันส์ หรือความคะนองของวัยรุ่น ทั้งเด็กสก็อย แว้นท์ขาโจ๋ นักบิดป่วนเมือง สิงห์รมควัน ฮวดเหล้า และเด็กติดยา ลำพังกำลังใจจากครอบครัวเป็นภูมิต้านทานเพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะเยียวยาได้ วันนี้มีวัคซีนปลุกใจขนานใหม่เรียกสั้นๆ ง่ายๆว่า “จิตสาธารณะ” ที่จะพลิกฟื้นให้เด็กวัยรุ่นขาโจ๋กลับใจพร้อมสร้างหัวใจดวงใหม่ที่มีจิตเป็นผู้ให้กับชุมชนและสังคม ภายใต้โครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.) โดยการสนับสนุนของ“กองทุนไทยพาณิชย์เพื่อผู้ประสบภัย” มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ที่มีสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหรือ พีดีเอ เป็นผู้ดำเนินการนำวัคซีนจิตสาธาณะไปจุดประกายความคิดให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ ที่ไร้ซึ่งคำว่า “ โอกาส ” แต่บัดนี้โอกาสได้มาเยือนพวกเขาแล้ว นายธีระวัฒน์ ห้าหาบ หรือ โชว์ หนึ่งในเยาวชนกลับใจจากโครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.) บ้านควนใต้ ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ย้อนอดีตที่ก้าวพลาดให้ฟังว่า ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่เหมือนใคร โชว์และเพื่อนๆ จึงได้รับฉายาว่า “เป็นเด็กฮาร์ดคอ ขาร็อค ตัวดำ ล่ำบึ๊ก” วันๆ หนึ่งเขาและเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรมากนัก ออกไปช่วยงานที่บ้านทำสวนยางบ้างตามแต่อารมณ์ การศึกษาก็น้อยจบเพียงแค่ชั้น ป.6 มีเวลาว่างไม่รู้ทำอะไร และนั่นคือจุดอันตรายที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ หันหายาเสพติดโดยไม่รู้ตัว “ยอมรับว่าอดีตของผมไม่ได้สวยงาม เป็นคนไม่ดีมากๆ ทั้งติดยาเสพติด ดื่มน้ำกระท่อม และสี่คูณร้อย สารเสพติดยอดฮิตที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในภาคใต้ “ สี่คูณร้อย” คืออะไร รสชาติเป็นอย่างไร อร่อยไหม? “ พี่อยากรู้หรือ ลองไหม ผมจะทำให้ลอง...” โชว์ตั้งคำถาม ก่อนจะพูดต่อโดยไม่รอคำตอบว่า “ แต่อย่าลองเลยจะดีกว่า ผมเกือบหมดอนาคตไปก็เพราะคำๆนี้ “อยากลอง” ” โชว์บอกเล่าถึงสรรพคุณของ “สี่คูณร้อย” สารเสพติดที่มีส่วนประกอบสี่อย่างที่ไม่เข้ากันเลยว่า ต้องผ่านกรรมวิธีการต้มใบกระท่อมก่อน เพื่อให้ได้น้ำใบกระท่อมเป็นตัวหลัก หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย น้ำอัดลม ยาแก้ไอ และน้ำแข็งผสมกัน การดื่มแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับมีเงินมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเราติดสี่คูณร้อยมากขึ้น ไม่เพียงสมองจะยิ่งเซื่องซึมมึนเมา สุขภาพกายก็ยิ่งอ่อนแอลงด้วย ที่สำคัญรู้สึกว่าคนในชุมชนรังเกียจ มองพวกเขาว่าเป็นคนไม่ดี บ้างก็พูดจาใส่ร้ายเป็นเรื่องสนุกปาก บ้างก็พูดจนเกินเหตุไป มองว่าเป็นคนบ้า เป็นตัวประหลาด ต้องกินยากันยุงบ้าง กินหลอดฟลูออเรสเซนต์บ้าง เขาเคยคิดอยากเลิกเสพ แต่ยังเลิกไม่ได้เพราะติดยาเสียแล้ว ในที่สุดคำว่า “โอกาส” ก็เปิดตัวให้โชว์และเพื่อนๆ กล้าที่จะทำความดี พอดีช่วงนั้นมีการเลือกตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.) ในวันนั้นเองเพื่อนๆ ก็ชักชวนให้เขาร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม อบย. และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โชว์ได้เข้ามาสัมผัสกับการทำงานจิตสาธารณะกับ อบย. “ ทั้งงานสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ปลูกป่าชายเลนและเตยปาหนันให้ชุมชน ทำความสะอาดมัสยิด กุโบร์ เก็บขยะพัฒนาชุมชน และปลูกต้นไม้สองข้างทางให้ชุมชนเป็นเมืองน่าอยู่ โดยเลือกปลูกต้นไม้ที่กินได้อย่างต้นขี้เหล็ก ฯลฯ ” “ การที่พวกเราทำงานจิตสาธารณะ ทำให้คนในชุมชนมองพวกเราดีขึ้นกว่าเดิม แรกๆ พวกเขาไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ แต่พวกเราก็พยายามปรับปรุงตัวตลอดเวลา ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ผลที่ได้รับปรากฏว่าคนในชุมชนยอมรับพวกเรามากขึ้น และไม่รังเกียจพวกเราเหมือนเมื่อก่อน ” จากการได้รับการยอมรับของชุมชน และการรู้จักว่าตัวเองมีคุณค่านี้เอง ทำให้โชว์สามารถทำในสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัวได้นั่นคือ การเลิกเสพยาสี่คูณร้อยอย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลดังกล่าว เขาจึงตั้งปณิธานว่า “ผมอยากเป็นคนดีช่วยเหลือสังคม” เพราะเคยเลวมาก่อน อยากพิสูจน์ให้คนในชุมชนรู้ว่าเราก็ทำดีได้ ด้วยการทำงานจิตสาธารณะ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เมื่อรู้ว่าโชว์เข้ามาทำงาน อบย. พวกเขาต่างสนับสนุนเต็มที่ “ผมโดนเหยียดหยามมามาก โดนชาวบ้านด่า พ่อแม่ว่า นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเลิกยาอย่างจริงจัง เมื่อเลิกดื่มใบกระท่อม อันดับแรกที่เห็นผลชัดเจนคือร่างกายแข็งแรงขึ้น พ่อแม่ให้กำลังใจโดยให้คำปรึกษาต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม” โชว์บอกว่าการเป็น “คนดี” ของโชว์คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับกำลังใจจากครอบครัวผู้นำในชุมชน องค์การส่วนบริหารส่วนตำบล (อบต.) และโครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน อบย. ที่ช่วยสนับสนุนและให้โอกาสเพื่อนๆ ที่เคยผิดพลาดได้กลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคม เหมือนได้ชีวิตใหม่คืนมาอีกครั้ง สอบถามข้อมูล/รูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุกัญญา สุวรรณมณีรัตน์ (คุณเหน่ง) 0-2270-1350-4 ต่อ 105

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ