สภากทม. แนะผู้บริหารพิจารณาออกกฏควบคุมผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 7, 2010 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กทม. คกก.วิสามัญฯ กวดขันร้านรับซื้อของเก่าและซาเล้ง สภากทม. ชี้ปัญหาพร้อมแนะแนวทางแก้ไข เผยเตรียมเสนอญัตติขอเห็นชอบให้หน่วยงานกทม.ควบคุมร้านรับซื้อของเก่าและประเภทอาชีพซาเล้ง เน้นต้องทำอย่างเป็นระบบและรอบคอบ แนะควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งหากมีการใช้กฏบังคับนั้นไม่ควรเข้มงวดมากจนเกินไปเพื่อให้แนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายสมชาย เวสารัชตระกูล ส.ก.เขตสายไหม ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันกับร้านรับซื้อของเก่า และคณะประชุมพิจารณารายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันกับร้านรับซื้อของเก่า โดยมีนางวันทนีย์ วัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุม ณ ห้องประชุม 6 สภากทม. ศาลาว่าการกทม. นายสมชาย ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การพิจารณารายละเอียดถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขในเรื่องร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้ง คณะกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฏหมายหรือระเบียบในการบังคับใช้เกี่ยวกับร้านรับซื้อของเก่าและรถซาเล้งยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างอาคารประเภทควบคุมการใช้กฏหมาย หากจะขออนุญาตผู้ขอจะระบุว่าจะใช้ประกอบกิจการประเภทใด หากมีการเปลี่ยนไปประกอบการอื่นในภายหลังก็ต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้ หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบก็สามารถดำเนินการตามกฏหมายควบคุมอาคารได้ทันที โดยอาคารประเภทควบคุมการใช้เมื่อก่อสร้างเสร็จ เจ้าหน้าที่จะต้องออกไปตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองการก่อสร้างอาคารให้จึงจะสามารถใช้อาคารได้ นอกจากนี้ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การเปลี่ยนประเภทการใช้อาคารจะต้องขออนุญาตก่อนอีกด้วย ทั้งส่วนอาคารที่ใช้ประกอบการค้าของเก่าจะเป็นอาคารประเภทพาณิชยกรรม ซึ่งเดิมกฏหมายกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2528 กำหนดให้ประกอบกิจการได้ในพื้นที่ขนาด 80 ตารางเมตร ปัจจุบันกฏกระทรวง พ.ศ. 2552 ได้แก้ไขเพิ่มพื้นที่เป็นขนาด 300 ตารางเมตร ซึ่งหากพื้นที่น้อยกว่านี้จะไม่เข้าข่ายในการควบคุมโดยกฏหมาย แนะควบคุมร้านรับซื้อของเก่าและซาเล้งต้องเป็นระบบและรอบคอบ คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการเริ่มจดทะเบียนประเภทซาเล้ง โดยทำการแยกกลุ่ม พร้อมกำหนดระยะเวลาประกอบการให้ชัดเจน กรุงเทพมหานครควรมีแผนในการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเป็นระบบ รอบคอบ ส่วนขั้นตอน ในการใช้กฏหมายบังคับนั้น ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและเข้มงวดมากเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการซาเล้งซึ่งมีอยู่หลายประเภท เช่น รถจักรยานยนตร์ รถเข็น คนเดินเก็บของเก่า ทั้งประกอบการแบบสุจริตหรือทุจริต เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเห็นถึงประโยชน์และข้อดีในการเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้จากการร่วมประชุมของคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีการสรุปถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะทำการรวบรวมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอมติเห็นชอบนำเสนอต่อผู้บริหารผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ