กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 ดังนี้
1. การกู้เงินภาครัฐ
? เดือนกุมภาพันธ์ 2553
กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 20,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 2 ครั้ง จำนวน 15,000 ล้านบาท และ 25,000 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม1,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
? ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553
ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 215,902 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 180,572 ล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 35,330 ล้านบาท
2. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2553
? หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนด จำนวน 15,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over วงเงินรวม 3,800 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม จำนวน 2,000 ล้านบาท และ 1,800 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553
? หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ วงเงินรวม 78,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 1) การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล 23,000 ล้านบาท 2) การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนด 30,000 ล้านบาท 3) การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนด 10,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และ 4) การปรับโครงสร้างตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนด 15,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ประกอบกับรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll Over หนี้เดิมรวม 94,465 ล้านบาท
3. การชำระหนี้ภาครัฐ
? เดือนกุมภาพันธ์ 2553
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณรวม 17,266 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 265 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 17,001 ล้านบาท
? ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553
กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 56,880 ล้านบาท
รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2553 มีจำนวน 4,001,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.23 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,643,728 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,093,441 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 190,037 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 74,635 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 34,360 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 55,602 ล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 4,842 ล้านบาท 8,397 ล้านบาท และ 8,003 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง
การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 55,602 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากรัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 39,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีขั้นตอนการออกพันธบัตรไป ชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF1 และ FIDF3) ที่ใช้เป็น Bridge Financing ในการปรับโครงสร้างหนี้ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552 — เดือนมกราคม 2553 โดยมีการทยอยออกพันธบัตร ในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 8,000 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2552 จำนวน 7,000 ล้านบาท และเดือนมกราคม 2553 จำนวน 15,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลงสุทธิ 4,482 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 8,397 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 19,180 ล้านบาท
สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 8,003 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
หนี้สาธารณะ จำนวน 4,001,841 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 369,014 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.22 และหนี้ในประเทศ 3,632,827 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.78 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,746,313 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.61 และหนี้ระยะสั้น 255,528 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.39 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง