แนวทางการส่งเสริมผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในตราสารการเงินและหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 15, 2007 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน เพื่อร่วมหารือแนวทางอนุญาตให้ผู้ลงทุนทั่วไปไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพิ่มเติมจากในปัจจุบันที่ ธปท. อนุญาตให้ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พอร์ตการลงทุนของ บล. และ บลจ. สามารถลงทุนต่างประเทศได้อยู่แล้ว
ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าควรให้ ก.ล.ต. มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรวงเงินในขอบเขตที่กว้างขึ้น
ตามแนวทางที่ตกลงกัน ดังนี้
1. ผู้ลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยให้ลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือซื้อจากบริษัทค้าหลักทรัพย์
2. ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยให้ลงทุนผ่าน
ผู้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น เว้นแต่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียน
ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ สามารถลงทุนผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ต้องผ่านผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลก็ได้
3. ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของลูกค้าต่อ ธปท.
ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ธปท. กำหนด
อนึ่ง การนำหลักทรัพย์ต่างประเทศในสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย จะขายได้เฉพาะในกลุ่มผู้ลงทุนประเภทสถาบันและกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น โดยต้องดำเนินการผ่านผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ว่าด้วยการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ด้วย
นอกจากการเปิดให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศด้วยวิธีข้างต้นแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มสินค้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิ่มธุรกิจให้กับบริษัทหลักทรัพย์ของไทย ก.ล.ต. จะอนุญาตให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาจดทะเบียนซื้อขายเป็นเงินบาทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรูปแบบดังต่อไปนี้
1. รูปแบบใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (Transferable Custody Receipt: TCR)
โดยอาจเป็น TCR ของหุ้นรายตัวของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ หรือเป็น TCR ของ Exchange Traded Fund (ETF) ต่างประเทศก็ได้
2. รูปแบบหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาต
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “แนวทางการอนุญาตครั้งนี้เป็นการเปิดกว้างให้
ผู้ลงทุนหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงกองทุนส่วนบุคคล ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไปสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและบริษัทหลักทรัพย์มีฐานธุรกิจที่กว้างขึ้นแล้ว ในส่วนของผู้ลงทุนก็มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นผ่านบริษัทซึ่งเป็นมืออาชีพที่พร้อมจะให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ลงทุน”
นายมาริษ ท่าราบ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “สมาคมได้ประเมินตัวเลขประมาณการของเงินที่สามารถจะไปลงทุนในต่างประเทศได้ภายใต้กองทุนส่วนบุคคลแล้ว น่าจะอยู่ที่กว่า 120,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 5% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ สำหรับบัญชีเงินฝากของบุคคลธรรมดาและ
นิติบุคคลเอกชนที่มียอดเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2550 ซึ่งมียอดเงินประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวม เงินฝากของ มูลนิธิ สหกรณ์ออมทรัพย์ และ ประกันภัย/ประกันชีวิต อีกจำนวนประมาณ 7 แสนล้านบาท”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ