“บ้านนักวิทย์น้อย” ปั้นครูสอนเด็กจิ๋วให้เป็นนักวิทย์แจ๋ว

ข่าวทั่วไป Thursday April 8, 2010 09:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สวทช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด บริษัท B.GRIMM GROUP สถาบันเกอเธ่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ธนาคารกรุงไทย บริษัท ปตท.เคมีคอล และบริษัทซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด จัดกิจกรรมเปิดตัว โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย กล่าวว่า เด็กเป็นสมบัติที่มีค่าของประเทศ การดูแลเด็กไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในประเทศต้องช่วยกันบ่มเพาะและพัฒนาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การจัดทำโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย จึงมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ เห็นว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและน่าค้นหาตั้งแต่เยาว์วัย โดยโครงการจะทำการมอบ“กล่องบ้านนักวิทย์น้อย” ซึ่งภายในบรรจุชุดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ให้คุณครูระดับอนุบาลทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมแนวทางการเรียนการสอนจาก ดร.ทอมัส ทิลมันส์ ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนี มาจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ด้วย เพื่อให้คุณครูสามารถนำชุดความรู้ไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เชื่อว่ากิจกรรมการทดลองคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร หรือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีจิตวิทยาศาสตร์และมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า นางฤทัย จงสฤษดิ์ วิทยากรอบรมจากฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า การจัดทำโครงการบ้านนักวิทย์น้อยในครั้งนี้ สวทช. มีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรผู้จัดอบรมให้แก่คุณครูในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการอบรมจะแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ตามชุดการทดลอง คือ เรื่องน้ำ อากาศ และไฟฟ้า ในแต่ละเรื่องจะมีการทดลองไม่ต่ำกว่า 10 การทดลอง โดยการจัดอบรมครั้งแรกนี้จะเป็นชุดการทดลองเกี่ยวกับน้ำ มีเรื่องหลอดดำน้ำ เนินน้ำ หมุดลอยน้ำ สนุกกับฟองสบู่ และการละลายของน้ำตาล เป็นต้น โดยเริ่มแรกคุณครูจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในทุกการทดลอง จากนั้นคุณครูทุกท่านจะต้องสลับหมุนเวียนกันทดลองเป็นวิทยากรสอนเพื่อนครูด้วยกันเอง เพื่อทดสอบว่ามีความเข้าใจและถ่ายทอดได้ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากภายหลังการอบรม คุณครูจะต้องคัดเลือกชุดการทดลอง 20 ชุดไปสอนให้เด็กๆ ในหลักสูตรการศึกษาประจำปี 2554 พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการเรียนการสอนมาที่สวทช. และขณะเดียวกัน ทางสวทช.จะมีการจัดคณะกรรมการติดตามประเมินผลในโรงเรียนต่างๆด้วย อย่างไรก็ดีหวังว่าท้ายที่สุดแล้วทุกการทดลองที่คุณครูได้ทำ จะช่วยจุดประกายความคิดและเป็นแนวทางให้คุณครูทุกท่านสามารถใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ที่มีอยู่มาพัฒนาชุดการทดลองด้วยตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความเหมาะสมต่อนักเรียนและแต่ละบริบทของท้องถิ่น นางพัชรี สืบตระกูล คุณครูระดับชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนศรีจิตรา จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จากที่ได้เข้าร่วมอบรม รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก หลายการทดลองนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้เลย เช่น การทดลองเนินน้ำ เป็นการอธิบายเรื่องแรงตึงผิว ที่ฟังแล้วอาจจะยากไปสำหรับเด็กอนุบาล 1 แต่ในการทดลองก็ช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กหยดน้ำลงบนแก้วน้ำจนถึงขอบแก้ว จากนั้นให้เด็กค่อยๆ หยดน้ำที่ละหยด แล้วตั้งคำถามให้เขาคิด ว่าน้ำในแก้วจะล้นหรือไม่ล้น จากนั้นก็ให้เด็กใช้แว่นขยายส่องดูก็จะเห็นว่าผิวน้ำนูนขึ้นมา ซึ่งผลการทดลองอธิบายง่ายๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจ เบื้องต้นว่าน้ำเกาะกันเป็นกลุ่ม พร้อมทั้งอธิบายด้วยการให้เด็กๆ ยืนจับมือกันเป็นวง หากคนหนึ่งเอนตัว เด็กๆ ที่เหลือก็จะดึงไว้ไม่ให้ล้ม เหมือนโมเลกุลน้ำที่จับตัวกันไว้ไม่ล้นออกมา เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้คิด จินตนาการ ฝึกใช้ภาษา และที่สำคัญคือการที่เด็กได้ทดลองทำด้วยตนเองจะเป็นความประทับใจและทำให้เด็กจำได้ดี ทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เขารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและอยากจะเรียนรู้ นางสาวเสาวณีย์ ฐิตะฐาน คุณครูระดับชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนรัตนโกสินทร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า กิจกรรมการทดลองที่ สวทช.จัดอบรมให้ เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยกิจกรรมที่ชอบและคิดว่าจะนำไปใช้ทดลองสอนเลย คือ สนุกกับฟองสบู่ เพราะทำได้ง่าย สนุก และแฝงสาระให้เด็กได้ลองสังเกต ฝึกการเรียนรู้ “จากการเป่าสบู่เล่น วิทยากรก็แนะนำให้เราเริ่มตั้งคำถามให้เด็กหาคำตอบ เช่น ทำอย่างไรจะเป่าฟองสบู่ให้ได้ขนาดใหญ่ ถ้าเป่าเร็ว เป่าช้า จะได้รูปร่างลูกโป่งเหมือนกันหรือไม่ อีกทั้งยังได้เทคนิคการสอนที่สำคัญ คือก่อนการทดลองควรจะมีการทดสอบว่าเด็กเข้าใจคำว่าเป่า หรือดูดหรือไม่ ด้วยการให้เด็กลองเป่าสำลี หรือลองใช้หลอดดูดน้ำเปล่า เพราะหากเด็กไม่เข้าใจให้ทดลองทันทีก็อาจเผลอดูดน้ำสบู่ลงคอจะเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ การอบรมยังช่วยให้เข้าใจวิธีการทดลองที่เป็นขั้นตอนมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้เรานำไปดัดแปลง หรือฝึกคิดการทดลองใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับบทเรียนและเด็กของเรามากขึ้น”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ