กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อปี พ.ศ. 2534 ทบวงมหาวิทยาลัยของประเทศไทย (สกอ. ในปัจจุบัน) ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือ
ทางการศึกษาและวิจัยกับ Department of Employment, Education and Training (DEET) หรือ Department of
Employment, Education and Workplace Relations (DEWR)
ความตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงเพื่อสร้างศูนย์การศึกษาในลักษณะต่างตอบแทน โดยได้จัดตั้งศูนย์ออสเตรเลียศึกษา
ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควบคู่กับศูนย์ไทยศึกษา (National Thai Studies Centre) ที่ Australian
National University กรุงแคนเบอร์ราประเทศออสเตรเลีย ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการศึกษาระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 ภายใต้การกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย และตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นเวลา 16 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพแห่งใหม่ของศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ทางศูนย์ฯ จึงย้ายสถานที่ตั้งใหม่ โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ (ศูนย์ศึกษาเอเปคเดิม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่ตั้งสำนักงานชั่วคราว พันธกิจของศูนย์ออสเตรเลียศึกษาประกอบไปด้วย การเป็นศูนย์กลางสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และฝึกอบรม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย โดยจะดำเนินงานผ่านแผนงานและกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย การจัดการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียนและนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ฯ จะมีการจัดทำเอกสารรายงานข่าวสารความเคลื่อนไหว ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลีย และกิจกรรมต่างๆ ในอนาคตแก่ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ ศูนย์ยังมีการให้บริการฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลียผ่านทางเว็บไซต์ www.aussiecenter.org อีกด้วย
สำหรับพิธีเปิดศูนย์ออสเตรเลียศึกษาอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต มีแขกผู้มีเกียรติหลายท่านมาร่วมงาน อาทิเช่น ฯพณฯ พอล กริกสัน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดย ฯพณฯ พอล กริกสัน กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาและมหาวิทยาลัยเครือข่ายมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างไทยและออสเตรเลียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ภายในงาน ยังได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์ออสเตรเลียศึกษาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของศูนย์ฯ ในการเป็นคลังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลียในประเทศไทย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศุภัช ศุชลาศัย ผู้อำนวยการศูนย์ออสเตรเลียศึกษาคนใหม่ ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า นอกจากพิธีเปิดศูนย์ออสเตรเลียศึกษา จะเป็นการเปิดการดำเนินงานของศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะแนะนำศูนย์ฯ ให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนในแวดวงวิชาการและบุคคลทั่วไปที่สนใจ
“ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาจะเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ งานวิจัย และการเรียนการสอนเกี่ยวกับออสเตรเลียผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น โครงการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย การจัดบรรยายทางวิชาการ การ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และเอกเอกสารอัพเดทข่าวและข้อมูลของออสเตรเลีย” “เว็บไซต์ของเราจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับออสเตรเลียให้กับคนไทย จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ภาครัฐและเอกชน นักธุรกิจ และบุคคลที่สนใจ เว็บไซต์ของเราจะให้คำตอบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับออสเตรเลีย ขอเชิญทุกท่านที่สนใจในประเทศออสเตรเลีย สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายและใช้บริการข้อมูลของเรา” รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า นอกจาก ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาจะเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างนักศึกษาไทยและออสเตรเลียที่มีความสนใจร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีทางวิชาการระหว่างสองประเทศอีกด้วย
Mr John Hancock คณะกรรมการบริหารสถาบันออสเตรเลีย-ไทย (Australia-Thailand Institute) หน่วยงานที่มีบทบาท
ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันและระหว่างบุคคลของออสเตรเลียและไทย กล่าวว่า ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งในด้านการทำธุรกิจและด้านอื่นๆ
ผู้ที่สนใจสามารถสมาชิกศูนย์ออสเตรเลียศึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่เว็บไซต์ www.aussiecenter.org
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อที่
คุณชนกกานต์ วีรคติธรรม และ Ms. Rachel McCarthy
ผู้ประสานงานด้านสื่อ
ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี 12121
โทรศัพท์: 0-2564-3128-30
โทรสาร: 0-2563-2848, 0-2563-2849
Email: aussiecenter@gmail.com