ธนาคารกรุงเทพ Bank of the Year 2010

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2010 09:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงเทพโชว์กำไรกว่า 2 หมื่นล้าน คว้าแชมป์ธนาคารแห่งปี 2553 ตามติดด้วยธนาคารไทยพาณิชย์รั้งที่ 2 ด้านธนาคารกสิกรไทยขยับขึ้นอันดับ 3 วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2553 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2553 หรือ Bank of The Year 2010 ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ครองตำแหน่ง ธนาคารแห่งปี 2553 ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 20,647.02 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 10.50 บาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน รวมทั้งได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 62,741.61 ล้านบาท สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) สูงถึง 16.4% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าสนับสนุนทุกกลุ่มลูกค้า เพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น โดยภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะมีบทบาทนำในการฟื้นตัว เนื่องมาจากการส่งออก และการขยายการลงทุนการผลิตในประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ทั้งภายในกลุ่มอาเซียนและประเทศนอกกลุ่ม สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในด้านความรู้และด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริการสำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปนั้น ธนาคารยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าจัดการเรื่องการเงินได้โดยสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสนอทางเลือกเพื่อการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอันดับ 2 ตกเป็นของ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยโชว์กำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 จำนวน 19,432.20 ล้านบาท ลดลง 9.61% แต่ยังคงมีกำไรสุทธิต่อรายได้รวม และกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ สูงเป็นอันดับ 1 ที่ 25.66% และ 1.54% ตามลำดับ ทั้งนี้ ธนาคารได้วางแผนที่จะรุกขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พร้อมขยายการเติบโตของกลุ่มลูกค้าธุรกิจโดยอาศัยโอกาสในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เพื่อสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้ารายย่อยและลูกค้าสถาบันในประเทศของธุรกิจค้าหลักทรัพย์ โดยอาศัยความร่วมมือภายในกลุ่มธนาคาร และครองความเป็นผู้นำในตลาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ด้าน ธนาคารกสิกรไทย อยู่ในอันดับ 3 ด้วยผลกำไรสุทธิที่สูงเป็นอันดับ 3 จำนวน 14.285.64 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 5.97 บาท ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการยึดถือความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่านบริการทางการเงินที่มีคุณภาพและโดดเด่น ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารเกียรตินาคิน อยู่ในอันดับ 4 โดยยังคงรักษากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 1.36% และ 6.86% ตามลำดับ โดยตั้งเป้าเติบโต 8-12% และรักษาระดับ NPL ให้ไม่เกิน 6% และเพิ่มบัญชีลูกค้าใหม่อีก 40% ธนาคารทิสโก้ ยังคงรั้งอยู่ในอันดับ 5 ซึ่งธนาคารได้ปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็นการรวมศูนย์ที่ลูกค้า พร้อมมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของสินเชื่อและความเหมาะสมของผลตอบแทนที่ได้รับเทียบกับความเสี่ยง อันดับ 6 ได้แก่ ธนาคารนครหลวงไทย โดยกำหนดให้ปี 2553 เป็นปีแห่งการทำธุรกิจในเชิงรุก โดยป้าหมายหลัก คือ การรุกเพื่อขยายฐานลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ และรุกเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ธนาคารธนชาต อยู่ในอันดับ 7 โดยมีกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 14.90% ซึ่งธนาคารจะเร่งเพิ่มขนาดของสินเชื่อธุรกิจและขยายธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นๆ ควบคู่ไปกับรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจเช่าซื้อ อันดับ 8 เป็นของ ธนาคารกรุงไทย ที่มีเป้าหมายเป็นธนาคารแสนสะดวกสำหรับลูกค้ารายย่อย ภาคธุรกิจ ภาครัฐและสถาบัน โดยให้ลูกค้ารู้สึกถึงความสะดวกและมีนวัตกรรมใหม่ พร้อมต่อยอดการบริการให้แก่คู่ค้าภาครัฐและภาคเอกชน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) อยู่อันดับ 9 โดยมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์และทีมลูกค้าสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง ด้วยการใช้จุดแข็งของเครือข่ายทั่วโลกที่มีอยู่มาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 โดยวางแผนที่จะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้ได้ 10,000 ล้านบาท เพื่อยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับทยอยลดการพึ่งพาสินเชื่อจากธุรกิจในเครือ และปรับบทบาทสาขาในการบุกเบิกและสร้างยอดเงินฝากจากฐานลูกค้าใหม่ อันดับ 11 ธนาคารทหารไทย ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 2,048.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 600% ซึ่งยังคงมุ่งขยายฐานลูกค้าเป้าหมายในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นตัวนำ พร้อมปรับประบวนการทำงาน และนำเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ธนาคารยูโอบี อยู่ในอันดับ 12 โดยยังคงยึดแนวทางการบริหารด้วยความระมัดระวัง และดำเนินงานด้วยความใกล้ชิดกับลูกค้าของธนาคาร และนำระบบกลไกที่มีประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบ และบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ อันดับ 13 มี 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการเติบโตจากภายในที่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อในทุกกลุ่มลูกค้า พร้อมขยายรายได้ด้านค่าธรรมเนียม และใช้ศักยภาพในการทำ Cross Selling ให้กับฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งเกิดจากธุรกิจรายย่อยที่ควบรวบเข้ามาในช่วงปี 2552 และ ธนาคารสินเอเชีย ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาระดับคุณภาพของสินเชื่อ ส่วนกลยุทธ์เงินฝากจะเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กผ่านช่องทางสาขามากขึ้น อันดับ 15 ตกเป็นของ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่สามารถพลิกฟื้นจากสภาวะขาดทุนกลับขึ้นมามีกำไรในปีนี้ ซึ่งธนาคารจะใช้ประโยชน์จากการเป็นเครือข่ายในกลุ่มซีไอเอ็มบีให้เต็มที่ และมุ่งค้นหาโอกาสในการทำธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน และจากผลขาดทุนที่ยังคงมีอยู่จำนวน 104 ล้านบาท จึงทำให้อันดับของธนาคารน้องใหม่อย่าง ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย รั้งท้ายอยู่ในอันดับ 16 แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้าโดยเน้นลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง ควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายพันธมิตร ปีนี้ วารวารการเงินธนาคาร ใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 16 แห่งในรอบปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2552 มาพิจารณาจัดอันดับ โดยปัจจัยที่ใช้วัดยังคงใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมด 10 ด้าน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับเสถียรภาพและความมั่นคงของแต่ละธนาคาร ได้แก่ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์, อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น, อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม, กำไรสุทธิต่อหุ้น, มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น, สินทรัพย์, อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม, สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม, อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ