ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2010 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM) และ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AGDM+3) วันที่ 5 - 7 เมษายน 2553 ณ เมืองนาจัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3) เมื่อวันที่ 6 -7 เมษายน 2553 ณ เมืองนาจัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยการประชุมดังกล่าวมี Mr. Tran Xuan Ha รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ Mr. Li Yong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุม AFDM+3 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: AFMM+3) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 ณ ประเทศอุซเบกิสถาน โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asia Bond Markets Initiative: ABMI) โดยเฉพาะการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: GIF) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานระวังภัยทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เป็นอิสระ (Independent Regional Economic Surveillance Unit) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจรายประเทศของสมาชิกอาเซียน +3 ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดย Mr. Srinivasa Madhur ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค รายงานต่อที่ประชุมว่าเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2553 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 ขยายตัวมาก โดย ADB คาดการณ์ว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจอาเซียน+3 จะขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ทั้งนี้ ความท้าทายในระยะต่อไป ได้แก่ 1) เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จากปัญหาอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง 2) เศรษฐกิจจีนซึ่งอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากความเข้มงวดมากขึ้นในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และ 3) ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ในภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่ง ADB เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการสอดส่องและกำกับดูแลเศรษฐกิจและการเงินร่วมกันจะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ Mr. Anoop Singh ผู้อำนวยการสำนักเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวอย่างไม่สมดุล กล่าวคือ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะและอัตราว่างงานที่สูง ส่งผลให้อาเซียน+3 ต้องหันมาพึ่งอุปสงค์ของตนเองและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และต้องมีการจัดการกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามายังเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของประเทศไทยนั้น นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวรายงานสถานะและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยต่อที่ประชุมว่า เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว โดยได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเอเชีย โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยภาคการบริโภคภายในประเทศและภาคการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปี 2553 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งที่จะสามารถรองรับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ กล่าวคือ แหล่งการส่งออกของไทยมิได้กระจุกตัวในเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ได้กระจายตัวไปทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน นอกจากนี้ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอสามารถรองรับการคืนหนี้ระยะสั้นต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งนอกจากจะเป็นมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเป็นการเสริมสร้างความสามารถความเข้มแข็งของประเทศในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM) นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 โดยมี Mr. Tran Xuan Ha รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งการประชุม AFDM จะเป็นการประชุมเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2553 ณ เมืองนาจัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยเป็นการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุม AFMM ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2558 ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินงานในด้านการพัฒนาตลาดทุน การเปิดเสรีบริการทางการเงิน และการเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้ายนอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าในด้านความร่วมมือทางการเงินอื่นๆ ได้แก่ คณะทำงานด้านพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum: ACMF) ตลอดจนความร่วมมือด้านประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือด้านการปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินและการต่อต้านการฟอกเงิน ความร่วมมือด้านศุลกากรอาเซียน รวมถึงการศึกษาในการหาแนวทางเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3622

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ