“นิด้าโพลชี้ คนไทยร้อยละ51.2 ดูแลผู้สูงอายุโดยการให้เงินใช้ประจำ แต่ผู้สูงอายุร้อยละ51.9 กลับต้องการให้บุตรหลานพูดคุยแวะกลับไปเยี่ยมเยียน”

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2010 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--นิด้าโพล เนื่องในวันที่ 13 เมษายน และวันที่ 14 เมษายน ของทุกปีนั้น เป็นวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ดำเนินการสำรวจเชิงวิจัย เรื่อง “ผู้สูงอายุและความห่วงใยดูแล” ช่วงเวลาสำรวจระหว่างวันที่ 27 — 29 มีนาคม 2553 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,180 คน แบ่งเป็นผู้มีอายุน้อยกว่า 25 ปี 360 คน อายุ 25 - 60 ปี 409 คนและอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 411 คนโดยลักษณะทั่วไปของหน่วยตัวอย่างกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ การประมาณค่าสัดส่วนต่าง ๆ ในการสำรวจครั้งนี้ มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกิน 0.07 ผลการสำรวจสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้ - การพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา โดยรวมพบว่าส่วนใหญ่เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 49.5 มีการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว 5 ครั้งต่อปี รองลงมาร้อยละ 25.0 3-5 ครั้ง/ปี ร้อยละ 22.4 1-2 ครั้ง/ปี ที่เหลืออีกร้อยละ 3 ไม่เคยมีการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเลย - ในด้านการเอาใจใส่และการดูแลผู้สูงอายุ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) จากผลการสำรวจพบว่า ในภาพรวมครอบครัวคนไทยมากกว่าครึ่ง ร้อยละ 51.2 ดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือน โดยการดูแลและให้เงินใช้เป็นประจำ ประมาณร้อยละ 14.6 ดูแลและให้เงินบ้างเป็นครั้งคราว ร้อยละ 11.7 ดูแลห่วงใยบ้างแต่ไม่เคยให้เงิน และมีอีก ร้อยละ 9.6 ที่ไม่เคยดูแลเพราะอยู่ไกลกันหรือเพราะยุ่งกับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของตนเอง หากจำแนกตามอายุพบว่าเยาวชน (อายุต่ำกว่า 25 ปี) ร้อยละ 65.9 ระบุว่า ดูแลเป็นครั้งคราวแต่จะให้เงินใช้เป็นประจำ ร้อยละ 27.0 ดูแลห่วงใยบ้าง แต่ไม่ค่อยมีโอกาสหรือไม่ได้ให้เงินใช้ เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน และที่เหลือร้อยละ 7.1 ไม่มีผู้สูงอายุที่ดูแลอยู่ (เสียชีวิตหมดแล้ว) วัยทำงาน (อายุระหว่าง 25-59 ปี) ร้อยละ 38.3 ดูแลและให้เงินใช้เป็นประจำ ร้อยละ 13.3 ระบุว่าตัวเองมีภาระหน้าที่การงาน การทำมาหากินและครอบครัวที่ต้องดูแล จึงไม่ค่อยได้มีเวลาดูแล ร้อยละ 4.8 ที่ต้องแยกครอบครัวออกมาหรือออกมาทำงานต่างถิ่น อยู่ไกลกัน และยังมีอีกถึงร้อยละ 30.6 ที่ระบุด้วยว่า ไม่มีผู้สูงอายุที่ดูแลอยู่ (เสียชีวิตหมดแล้ว) สำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.4 ได้รับการดูแลและให้เงินใช้จากบุตรหลานเป็นประจำ มีร้อยละ 8.0 ที่บุตรหลานต้องแยกไปมีครอบครัวหรือไปทำงานต่างถิ่น และมีเพียงร้อยละ 0.6 ที่ระบุว่า ไม่มีบุตรหลาน หรือบุตรหลานเสียชีวิตหมดแล้ว - สิ่งที่เยาวชน และวัยทำงานดูแลหรือทำให้กับผู้สูงอายุ พบว่า เยาวชน (อายุน้อยกว่า 25 ปี) สิ่งที่ทำให้แก่ผู้สูงอายุในครัวเรือน (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) เป็นประจำ คือ การดูแลปรนนิบัติเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย (ร้อยละ 33.0) พูดคุยหรือไปเยี่ยมเยียน (ร้อยละ 23.2) ช่วยหยิบจับสิ่งของหรือทำงานบ้าน (ร้อยละ 15.4) ซื้อหาสิ่งของที่ต้องการ (ร้อยละ 11.8) และ พาไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ (ร้อยละ 9.0) สิ่งที่ผู้อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 25 — 59 ปี) ทำให้แก่ผู้สูงอายุในครัวเรือน (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) เป็นประจำ คือ การดูแลปรนนิบัติเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย (ร้อยละ 15.1) ให้เงินไว้ใช้จ่าย (ร้อยละ 15.0) พูดคุยหรือไปเยี่ยมเยียน (ร้อยละ 11.6) ซื้อหาสิ่งของที่ต้องการ (ร้อยละ 11.2) และพาไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ (ร้อยละ 10.8) ในด้านกลับกัน สิ่งที่ผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ต้องการได้รับจากลูกหลานไม่ใช่เงินทองหรือสิ่งของ พบว่า ร้อยละ 51.9 ต้องการให้ลูกหลานมาพูดคุยหรือมาเยี่ยมเยียน และดูแลปรนนิบัติเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย (ร้อยละ 32.6) มีเพียงร้อยละ 7.3 ที่ระบุว่าต้องการเงินไว้ใช้ ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นชัดว่าผู้สูงอายุในครอบครัวของสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นครอบครัวใหญ่เหมือนเมื่อก่อน โดยมีบุตรหลานส่วนหนึ่งได้แยกย้ายออกมามีครอบครัว หรือออกไปทำงานต่างถิ่นที่ห่างไกล ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความต้องการที่แท้จริงลึกๆ ในจิตใจของผู้สูงอายุต้องการได้รับการดูแล ห่วงใย โดยการพูดคุย แวะกลับมาเยี่ยมเยียน มากกว่าการได้รับเงินทองหรือสิ่งของ - การใช้เงินจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล ผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับเงินจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล แล้วมีร้อยละ 65.3 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 41.6 ใช้เงินสำหรับซื้อข้าวของเครื่องใช้/ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 13.5 เก็บออมเงินที่ได้ไว้ - เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ผู้สูงอายุในสายตาของเยาวชน ในสายตาของเยาวชน (อายุน้อยกว่า 25 ปี) เห็นว่า ผู้สูงอายุเป็นเสาหลัก เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้กำลังใจกับครอบครัว (ร้อยละ 44.5) ให้ความอบอุ่นแก่บุตรหลาน (ร้อยละ 29.2) และประสบการณ์ของผู้สูงอายุ (ปู่-ย่า-ตา-ยาย) เป็นที่พึ่ง ช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้ (ร้อยละ 12.6) ที่เหลืออีกร้อยละ 13.7 เห็นภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในด้านลบ เช่น ขี้งอน ใจน้อย เอาแต่ใจ จู้จี้ขี้บ่น สุขภาพอ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีความคิดไม่ทันสมัย - สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง ได้แก่ อันดับ1 ร้อยละ 52.2 คือความรักและความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน อันดับ 2 ร้อยละ 12.6 ความเข้าใจกัน อันดับ 3 ร้อยละ 10.8 ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูลกัน อันดับ 4 ร้อยละ 8.6 การให้กำลังใจและสนับสนุนกันและกัน อันดับ 5 ร้อยละ 8.3 การรับฟังปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหา และอันดับ 6 อื่นๆ ร้อยละ 7.5 เช่น ความไว้วางใจ การให้อภัยกัน การมีเวลาให้กับคนในครอบครัว - ในด้านความสุขครอบครัวของคนนไทย จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความสุขของครอบครัวของแต่ละคน โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความสุขของครอบครัวโดยรวมทั่วประเทศเท่ากับ 8.3 คะแนน โดยมากกว่าร้อยละ 90 ให้คะแนนความสุขของครอบครัวตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไป รายละเอียดรายงานผลการสำรวจฉบับสมบูรณ์ download ได้จาก http://nidapoll.nida.ac.th ติดต่อ สำนักงานศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” โทร. 02 727 3308 โทรสาร 02 727 3308 Email: nida_poll@nida.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ