กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--บีโอไอ
รองนายกฯ โฆสิต จับมือบีโอไอหารือ 37 บริษัทชั้นนำ ถามความเชื่อมั่นการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ หวังเร่งรัดการลงทุน พร้อมช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การลงทุนล่าช้า เลขาฯ บีโอไอเผย 4 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่ได้รับส่งเสริม ดำเนินการลงทุนแล้วถึง 95%
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำ 37 ราย ว่า การเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาหารือในวันนี้ เพื่อติดตามถึงแผนดำเนินการของบริษัทว่าหลังจากที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว มีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนตามแผนมากน้อยเพียงไร มีการปรับแผนหรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนหรือไม่
ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะก่อสร้างโรงงานภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ และจะเริ่มนำเข้าเครื่องจักรภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินงานตามแผนการลงทุน
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมหารือหลายราย ได้นำเสนออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีอุปสรรคแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าเครื่องจักร และเรื่องขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ
การหารือในครั้งนี้ บีโอไอได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจาก 37 บริษัท ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในด้าน เกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และธุรกิจบริการ อาทิ ไทยบริดจสโตน, โยโกฮาม่า ไทร์, บางกอกกลาส, โฮยาเลนส์, เอคโค่, คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ, ทิปโก้, เวสเทิร์นดิจิตอล, ฮิตาชิ โกบอล สตอเรจ, ฟูจิตสึ, มินีแบ,นิเด็ค อิเล็กโทรนิกส์, ซิเลซติกา, ชาร์พ แอพพลายแอนซ์, โกลว์ พลังงาน, อาร์ ซี แอล, โรม อินทิ เกรเต็ด ซิสเต็มส์, เอเซียน ฮอนด้า และ จี สตีล
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การติดตามเร่งรัดให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้วมีการลงทุนจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่ไปด้วย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2546 — 2549) มีโครงการที่บีโอไอออกบัตรส่งเสริมแล้วจำนวน 4,049 โครงการ และมีโครงการที่ได้ดำเนินงานแล้ว เช่น ก่อสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และดำเนินการผลิตสินค้า เป็นจำนวน 3,849 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 758,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 886 โครงการ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน 700 โครงการ กลุ่มเกษตร 668 โครงการ กลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 591 โครงการ และกลุ่ม ปิโตรเคมี 532 โครงการ
“จากสถิติของบีโอไอ พบว่า ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมไปแล้ว มีการดำเนินการแล้ว เช่น ก่อสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร ดำเนินการผลิต เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน และโดยภาพรวมโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมในช่วง 4 ปีดังกล่าว มีการดำเนินงานไปแล้วถึงร้อยละ 95 ” เลขาธิการบีโอไอกล่าว