กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--มว.
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เดินหน้าเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับระบบมาตรวิทยา ข้อกำหนดของการส่งออกของประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย และระบบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก
นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี มว. เรื่อง The Role of Metrology in Supporting Thai Exports ว่า ภาครัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา ซึ่งในปัจจุบันความสำคัญของมาตรวิทยาเป็นที่ตระหนักกันทั่วโลก และสร้างความตื่นตัวให้กับประเทศต่างๆ ในการพัฒนากิจกรรมการวัดให้ได้ผลการวัดที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ฉะนั้น การพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยอาจเรียกได้ว่า มาตรวิทยาเป็นกลไกที่จะช่วยลดการกีดกันทางการค้าอันเนื่องมาจากมาตรการทางเทคนิค ควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต ยกระดับมาตรฐาน และเป็นกุญแจสำคัญสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในการก้าวเข้าสู่เวทีการค้าโลก
พลอากาศตรี ดร.เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (ผมว.) กล่าวว่า เทคโนโลยีการวัดมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการผลิตและทดสอบของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการวัดที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จะเป็นเครื่องยืนยันในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันความสามารถของการแข่งขันในเวทีการค้าโลกจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ระบบมาตรวิทยาจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และยังนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ของภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
ผมว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้พันธกิจหลักของ มว. คือพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถ่ายทอดความถูกต้องด้านการวัดสู่กิจกรรมการวัดต่างๆ ในประเทศ และเผยแพร่ความรู้
ความเข้าใจด้านมาตรวิทยาสู่สังคมไทย มว. พยายามพัฒนาหน่วยวัดของชาติให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เพื่อที่จะเป็นที่อ้างอิงของผู้ใช้งานในประเทศ ซึ่งการพัฒนาหน่วยวัดของชาติ มว. ได้ลำดับความเร่งด่วน และความสำคัญตามอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของรัฐบาล อันได้แก่ อุตสาหกรรมเพื่อให้ใช้ไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชีย (Detroit of Asia) ตลอดจนการยกระดับธุรกิจการบริการสุขภาพของชาติให้อยู่ในระดับสากลเป็นที่นิยมของนานาชาติ เป็นต้น โดยหน่วยวัดแห่งชาติสามารถเป็นที่อ้างอิงของกิจกรรมการวัดทุกประเภท กล่าวคือการค้าต่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม
การถ่ายทอดความถูกต้องด้านการวัดสู่ผู้ใช้ในประเทศ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยจัดทำโครงการบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภูมิภาค เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการสอบเทียบในภูมิภาคให้มีคุณภาพ สามารถให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
สำหรับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านมาตรวิทยา ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการพัฒนารายละเอียดวิชาการมาตรวิทยา ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนวิชาการมาตรวิทยาในระดับปริญญาตรี เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีความรู้และเข้าใจ ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรวิทยา
ผมว. กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานว่า มว. จะขยายขอบเขตมาตรวิทยาฟิสิกส์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น พัฒนามาตรวิทยาเคมี และมาตรวิทยาชีวภาพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร สุขภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งเสริมการศึกษาด้านมาตรวิทยาในสถาบันการศึกษา และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของมาตรวิทยาในสังคมไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของห้องปฏิบัติการสอบเทียบ โดยจัดทำแนวทางการสอบเทียบเครื่องมือวัด จัดการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการสอบเทียบ เผยแพร่ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวัด เช่น การสอบเทียบ การอบรม การให้คำปรึกษา และอื่นๆ สนับสนุนการแต่งตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคในแต่ละสาขาการวัด การจัดตั้งสมาพันธ์และสมาคมห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และสร้างมาตรการจูงใจกระตุ้นให้ห้องปฏิบัติการสอบเทียบพัฒนาขีดความสามารถ อาทิ การมอบรางวัลห้องปฏิบัติการสอบเทียบดีเด่น การจัดอันดับห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และการจัดทำฐานข้อมูลขีดความสามารถห้องปฏิบัติการสอบเทียบ เป็นต้น--จบ--