กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กทม.
รณรงค์ลดภาวะโลกร้อนต่อเนื่อง หยุดเพิ่มความร้อนใส่กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมเปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ ในตลาดย่านปากคลองตลาด เป็นแห่งที่ 2 ภายหลังนำร่องแห่งแรกที่ประชานิเวศน์ พร้อมตั้งเป้าภายในเดือนมิถุนายน นี้ 192 ตลาดทั่วกรุงหันมาใช้หลอดตะเกียบ ช่วยลดกำลังการผลิต ลดค่าไฟฟ้า และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้ารณรงค์เปลี่ยนหลอดไส้เป็น หลอดตะเกียบเบอร์ 5 ลดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง และสร้างการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน โดยกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มอบหลอดตะเกียบ จำนวน 800 หลอด และบริษัทโตชิบา ไลท์ติ้ง จำกัด มอบให้อีก 300 หลอด รวม 1,100 หลอด สำหรับตลาดบริเวณปากคลองตลาด ได้แก่ ตลาดส่งเสริมการเกษตร ตลาดยอดพิมาณ ตลาดองค์การตลาด และผู้ค้าโดยรอบบริเวณ ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 2 ภายหลังจากได้ดำเนินการนำร่องแห่งแรกที่ตลาดประชานิเวศน์ 1
ทั้งนี้การเปลี่ยนหลอดไส้มาใช้หลอดตะเกียบบริเวณปากคลองตลาด จำนวน 1,100 หลอด ในระยะเวลาการใช้งานปกติ วันละ 12 ชั่วโมง จะช่วยลดปริมาณกำลังไฟฟ้าได้ปีละ 385,440 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงได้ปีละ 196,185 กิโลกรัมต่อปี และประหยัดเงินได้ 1,160,170 บาทต่อปี
นอกจากการเปลี่ยนหลอดไฟบริเวณปากคลองตลาดแล้ว กรุงเทพมหานครยังกำหนดจะเปลี่ยนหลอดไฟเป็นชนิดประหยัดพลังงานอีก 192 ตลาดทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นตลาดของกรุงเทพมหานคร จำนวน 14 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วที่ ตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดเอกชน 175 แห่ง ตลาดสังกัดกระทรวง และหน่วยงานอื่นๆ อีก 3 แห่ง โดยคิดเป็นจำนวนหลอดไฟ ที่ต้องเปลี่ยนทั้งสิ้น 44,202 หลอด ซึ่งหากเปลี่ยนตามจำนวนดังกล่าวเป็นหลอดตะเกียบขนาด 20 วัตต์ เปิดไฟ 12 ชั่วโมง จะลดปริมาณกำลังไฟลงได้ปีละ 15,488,380 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ช่วยลดค่าคาร์บอนไดออกไซด์สาเหตุโลกร้อนได้ปีละ 7,883.43 ตัน และประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้ปีละ 46,619,849 บาท ซึ่งการเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดมีเป้าหมายแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2550
สำหรับกิจกรรมเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนจะจัดทุกวันที่ 9 ของเดือน โดยในวันที่ 9 ก.ค. 50 กรุงเทพมหานครจะจัดกิจกรรมรณรงค์ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดภาวะโลกร้อน เพื่อหยุดเพิ่มความร้อนใส่กรุงเทพฯ ต่อไป