พพ. ปลื้ม พลังงานทดแทนไทยกระหึ่มโลก หลังไต่อันดับเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อันดับ 8 ของโลก หวังผลักดันตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี มั่นใจส่งไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

ข่าวทั่วไป Monday April 12, 2010 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--พพ. นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พพ.ได้รับทราบรายงานจากคณะกรรมการเครือข่ายพลังงานทดแทนเพื่อศตวรรษที่ 21 หรือ Renewable Energy Network for the 21st Century (REN21) ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาพลังงานทดแทนของ UNEP หรือองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ โดยผลของการจัดอันดับประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากทั่วโลกกว่า 63 ประเทศ พบว่าประเทศไทยสามารถขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสูงที่สุดของโลก (ร่วมกับประเทศสเปน) โดยถือเป็นอันดับ 2 ของประเทศในทวีปเอเชียหรือเป็นรองแค่ประเทศมหาอำนาจ อย่างประเทศสาธารณะประชาชนจีน เท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 พบว่ามียอดการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการผลิตเอทานอลที่ระดับ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นชาติที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก มีการผลิตเอทานอลที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลมีการผลิต 3 แสนลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นมหาอำนาจด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา พบว่ามีการผลิตเอทานอลได้สูงถึง 34,000 ล้านลิตรต่อปี ไบโอดีเซล 2,000 ล้านลิตรต่อปี รองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ ประเทศบราซิล ซึ่งผลิตเอทานอลได้ 27,000 ล้านลิตรต่อปี ไบโอดีเซล 1,200 ล้านลิตรต่อปี อันดับ 3 ประเทศฝรั่งเศส ผลิตเอทานอลได้ 1,200 ล้านลิตรต่อปี ไบโอดีเซล 1,600 ล้านลิตรต่อปี และอันดับ 4 ประเทศเยอรมันนี ผลิตเอทานอลได้ 500 ล้านลิตรต่อปี ไบโอดีเซล 2,200 ล้านลิตรต่อปี ส่วนอันดับ 6 และ 7 ได้แก่ ประเทศอาเจนติน่า และแคนาดา ตามลำดับ นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า ตามเป้าหมายของการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ของกระทรวง จะมีการผลิตเอทานอลได้ 9 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล มีการผลิต 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2565 ซึ่งมั่นใจว่าหากประเทศไทยสามารถทำได้ตามเป้าหมายการผลิตเชือเพลิงชีวภาพดังกล่าว เชื่อว่าอาจจะส่งผลให้ประเทศไทย เข้าไปติดอยู่ภายใน 5 อันดับแรกของโลก และมีโอกาสจะรักษาแชมป์ที่เป็นประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ในอาเซียน นำหน้าผู้ผลิตหน้าใหม่ เช่น มาเลเซีย ได้ต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ