กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--Sir
ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ ทีม เคเอ็มยูทีที (Team KMUTT) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชะเลิศ ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาทและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World Robocup Soccer: Humanoid League) ณ ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน ศกนี้
ทีมหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ทีมต้นกล้า (Tonkla) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาท
“การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทยช่วยให้เราพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว
ในฐานะนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสมาคมฯได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ทางสมาคมฯมุ่งหวังและพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้การพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป และการแข่งขันในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติและบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ตลอดจนให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการจัดการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกในการประสานงานต่างๆ ให้การดำเนินงานการจัดแข่งขันประสบผลสำเร็จ
“การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีความสลับซับซ้อนสูง” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย กล่าว “การแข่งขันนี้จะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยเพิ่มพูนศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่”
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย แต่ละทีมต้องสร้างหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จำนวน 2 ตัวเพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอล ทีมที่ทำคะแนนสูงสุดเวลาการแข่งขันทั้งสิ้น 20 นาที เป็นผู้ชนะ
การแข่งขันนี้มีความท้าทายมากสำหรับนิสิต นักศึกษาทุกคนเนื่องจากพวกเขาต้องปรับใช้หลักการต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถรักษาความสมดุลของขาทั้งสองข้างและสามารถเล่นฟุตบอลได้ “เรามีความยินดีที่ได้เห็นการพัฒนาและความก้าวหน้าของนิสิต นักศึกษาเหล่านี้” ดร. ถวิดากล่าวเสริม
ดร. สุธี ผู้เจริญชนะชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนที่มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “หนึ่งในเป้าหมายของเนคเทค คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในระดับต่างๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จากการชมการแข่งขัน วิสัยทัศน์ของเราจะกลายเป็นความจริงในอนาคตอันใกล้นี้”
นายเจฟฟรี่ย์ ดี. ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ซีเกทสนับสนุนการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ในชุมชนที่พนักงานของเราอาศัยและทำงานอยู่” ในฐานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยี เราตระหนักถึงความจำเป็นสำหรับนิสิต นักศึกษาในการมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และสร้างความชำนาญที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลของเรา นอกจากนี้ การได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติจะทำให้ตัวแทนประเทศไทยได้รับประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนต่างชาติ
“ซีเกทสนับสนุนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พวกเขายังได้ฝึกการทำงานเป็นทีม ระดมความคิดเพื่อแข่งขันกับทีมนิสิต นักศึกษาที่มีความสามารถในระดับหัวกะทิจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ”
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
เนคเทค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering : RDDE) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเนคเทค นอกเหลือไปจากภารกิจทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ซึ่งเนคเทคได้ดำเนินภารกิจหลักนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานจากโครงการวิจัยต่าง ๆ นำไปถ่ายทอดให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nectec.or.th
ซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.seagate.com
ลิขสิทธิ์ 2009 บริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี สงวนลิขสิทธิ์ ซีเกท (Seagate) ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate Technology) และโลโก้ (the Wave logo) เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือในประเทศอื่น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของเจ้าของตามที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com
หรือดร. ถวิดา มณีวรรณ์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทรศัพท์ 0-2470-9698 Email: praew@fibo.kmutt.ac.th