กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สวทช.
สวทช. จัดประชุมบทบาทของ สวทช. ต่อการพัฒนา SMEs และ OTOP ในเขตภาคเหนือ เพื่อเปิดใจรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่เศรษฐกิจพอเพียง ชี้ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่ ‘รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.’ ย้ำ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่การปฏิเสธความก้าวหน้า แต่เป็นเรื่องที่ต้องนำความรู้ความเข้าใจมาใช้อย่างพอเหมาะ พอดี บนฐานของเหตุและผล
ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ รักษาการผู้อำนวยการ โครงการเครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ เปิดเผยว่า สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ ได้จัดงานประชุมประจำปีในหัวข้อ : บทบาทของ สวทช.ต่อการพัฒนา SMEs และ OTOP ในเขตภาคเหนือ เพื่อเปิดใจรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่เศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ในการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ เพื่อวิจัยและพัฒนาแก้ไขปัญหาท้องถิ่น และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ รวมทั้งการประสานงานให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในท้องถิ่น ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
“ การจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอผลงานของ สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่นภาคเหนือ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปอย่างมาก โดยเฉพาะนักวิจัยและผู้ประกอบการในท้องถิ่น อันเป็นผลจากที่ สวทช.เครือข่ายภาคเหนือสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs รวมถึง OTOP ได้เห็นความสำคัญในเรื่องการวิจัยและเกิดความตื่นตัวในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย และการประยุกต์ใช้งานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน โดยจะเห็นว่าหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในเรื่องของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกันที่ดี ล้วนเป็นเรื่องของการทำให้เกิดความสมดุล มีความพอเหมาะพอดี หรือ ทางสายกลาง ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นและมีความสุขได้มากขึ้น แต่การที่จะทำให้เกิดความพอเหมาะพอดีได้นั้น จะต้องมีพื้นฐานความรู้ คือ มีความรอบรู้ รอบคอบ และมีความระมัดระวัง ที่สำคัญคือ เมื่อทำอะไรก็ต้องรู้จริง และการที่จะรู้จริงได้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้หาเหตุและผล ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีเหตุและผล และนำความรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างพอเหมาะพอดี เกิดคุณค่าและมูลค่า อีกทั้งความรอบรู้ยังช่วยให้เราได้มีความรู้เท่าทันเช่นเดียวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเรื่องของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิปัญญาหรือความรู้ที่เรารู้มาแต่ดั่งเดิม ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาเอื้อประโยชน์ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น แต่การที่จะทำให้พอดีได้อย่างไรนั้นยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ ‘คุณธรรม ความรอบคอบ และความระมัดระวัง’กำกับ และหลักสำคัญ คือ การทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เพื่อที่เราจะได้สามารถนำไปใช้ได้อย่างรู้เท่าทัน และสามารถมีภูมิคุ้มกันได้จากความรู้เหล่านั้น ”
รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวว่า “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่การปฏิเสธความก้าวหน้า หรือ หนีออกจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องที่ต้องนำความรู้ความเข้าใจมาใช้อย่างพอเหมาะ พอดี บนฐานของเหตุและผล เพราะไม่ว่าจุดใดก็หนีไม่พ้นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในเรื่องของทุนทางเศรษฐกิจ สังคม หรือ ทรัพยากร เราจึงต้องมีความรู้ที่จะนำมาช่วยแก้ไขปัญหากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความพอเหมาะอย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้ความสมดุลของโลกเสียหาย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรถึงจะมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พอเหมาะและเพียงพอสำหรับเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อทำให้อนาคตอยู่ได้อย่างยั่งยืน และอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างพอดี”
ผอ.สวทช. กล่าวต่อว่า ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เช่น การผลิตใหม่ๆที่ใช้พลังงานน้อยลง หรือ การผลิตใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เป็นต้น ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องมีการเรียนรู้ มีการวิจัย และมีการนำส่วนต่างๆ มาถามตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้รู้เหตุผลและเข้าใจ เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่รู้เพียงแค่นี้ก็พอแล้วซึ่งจะไม่ใช่ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้สิ่งที่มีอยู่หรือภูมิปัญญาความรู้ที่มีอยู่เดิม นำความรู้เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอด และนำความรู้ไปก่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดจากแหล่งความรู้ใหม่ๆ หรือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
“โดยการเปิดรับสิ่งดีๆ เข้ามาปรับแต่งให้พอเหมาะพอดี กับวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนและงดงามของไทย ดังนั้น การพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องให้แน่ใจก่อนว่า มีฐานความรู้ ความคิด หรือ ปัญญา เป็นกรอบสำคัญที่จะทำให้เกิดธรรมาภิบาล และเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับชุมชนต่อไป” ผอ.สวทช. กล่าว
การดำเนินงานของสวทช.เครือข่ายเหนือถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ โดยการนำนักวิจัยหรือ ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึงในการสนับสนุนภาคเอกชนของสวทช.ที่มุ่งเน้นพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมฐานความรู้ และมีความรู้มากขึ้นจากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดีขึ้นโดยนำไปเป็นทุนในการประกอบธุรกิจหรือสัมมาชีพในพื้นที่ และสามารถแข่งขันได้บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้ความหลากหลายของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์
อาทิ ลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือที่มักประสบปัญหาเรื่องของราคาตกต่ำ เพราะผลผลิตที่ออกมามากจนเหลือทิ้ง แต่ปัจจุบันได้มีการนำลำไยมาผลิตเป็นเครื่องสำอางช่วยในการกระชับผิวที่ผ่านการยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ตัวอย่างจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการใส่แกลบหรือรำข้าวลงบนนาข้าว ถือเป็นการต่อยอดไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นกุญแจสู่เกษตรอินทรีย์แทนการใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งผลวิจัยพบว่าแกลบมีแร่ธาตุสูงและได้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูกข้าวในนาอย่างมาก , การพัฒนากระเบื้องดินเผาล้านนาให้มีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น และการถ่ายทอดเทคนิคการทำอาหารสู่วิสาหกิจชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น