กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ณ เมืองญาจัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมี Mr. Vu Van Ninh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานการประชุม ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้หารือในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558
ที่ประชุมฯ ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก (World Bank: WB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เข้าร่วมรายงานภาวะเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาคด้วย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ การมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการเงินที่เข้มแข็ง และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม โดยคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9-5.6 ในปี 2553 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.5 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกเห็นร่วมกันว่าหากมีการผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังและระบบการเงิน และเวลาที่เหมาะสม
ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานต่างๆ ที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตลาดทุน การเปิดเสรีบริการทางการเงิน และการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยทางด้านการพัฒนาตลาดทุน ที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนการจัดทำดัชนีชี้วัดสำหรับการติดตามการพัฒนาการของตลาดทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถเพื่อเพิ่มศักยภาพและสภาพคล่องให้กับตลาดทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน การขยายฐานนักลงทุนในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนการจัดทำระบบการเชื่อมโยง (Electronic Linkages) ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Gateway) เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนของภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการเปิดเสรีบริการทางการเงินและการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ประชุมฯ ได้รับรอง Safeguards Framework ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับการเจรจาการเปิดเสรีการค้าบริการทางด้านการเงินของอาเซียนในรอบที่ 5 ต่อไป และที่ประชุมได้ยืนยันต่อการที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายตามที่ได้ผูกพันไว้ และสนับสนุนการจัดทำแผนประเมินผลของการเปิดเสรีด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และการลงทุนใน Portfolio Investment รวมทั้ง การจัดทำรายงานสรุปกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่ใช้ในการกำกับดูแลการเปิดเสรีในด้านต่างๆดังกล่าว ของแต่ละประเทศ เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ และสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้เสรียิ่งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน และการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) โดยมีมติให้เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียนร่วมกับ ADB พิจารณาโครงสร้างที่เหมาะสมของกองทุนฯ ตลอดจนกลไกการดำเนินงาน และหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนฯ และสามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนแผนการดำเนินงานซึ่งเป็นความร่วมมือกับ WB โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันในประเด็นการเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่อไป
ในระหว่างการประชุม AFMM ครั้งที่ 14 นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้ลงนามในร่างพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ (Second Protocol to Amend the Governing the Implementation of the ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature) ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการรวมตัวกันทางด้านศุลกากรอาเซียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ASEAN Finance Ministers’ Investors Seminar (AFMIS)” ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตลอดจนได้หารือในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การเพิ่มบทบาทของอาเซียนในกรอบการประชุม G-20 การเตรียมการจัดประชุม Informal East Asia Finance Ministers และความร่วมมือทางด้านภาษีในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ สำหรับการประชุม AFMM ครั้งที่ 15 จะมีขึ้นในปี 2553 ณ ประเทศอินโดนีเซีย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3669