กองทุนเปิด อเบอร์ดีน ไทย เอคควิตี้ ดีวิเด็น จะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2553 ในอัตรา 0.52 บาทต่อหน่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 16, 2010 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--อเบอร์ดีน บทวิเคราะห์ตลาดทุนและตราสารหนี้ไทย ไตรมาสที่ 1/2553 ตลาดทุนไทย ในรอบไตรมาสแรกของปี 2553 เศรษฐกิจไทยได้แสดงถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนเศรษฐกิจมาจากปัจจัยต่างๆจากทั้งในและนอกประเทศ ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกที่ปรับตัวขึ้น 30.8% ในเดือนมกราคมและ 23.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ จากหนึ่งปีที่ผ่านมา ขณะที่การท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังยึดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมต่อไปที่ 1.25% ส่วนข้อมูลภายในประเทศ ได้แก่ รายจ่ายค่าโฆษณาประจำเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายยานยนต์ขยายตัวขึ้น 57.7% แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังน่าพอใจ แต่ความตึงเครียดทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อในขณะนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่องว่าปัญหาอาจจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงขึ้นและเป็นเหตุให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องหยุดลง ในเดือนมกราคมดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือน แต่ต่อมาปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์จากสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ลดลง โดยนับตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกยึดอำนาจเป็นจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมดที่ถูกอายัดไว้ 7.6 หมื่นล้านบาท ด้วยมูลเหตุที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2544 — 2549 ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีเริ่มก่อการประท้วงในกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภาฯ รัฐบาลได้เข้าแก้ไขสถานการณ์โดยการปฎิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวและประกาศใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจนถึงขณะนี้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะมีทั้งด้านดีจากตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคและแนวโน้มที่ไม่แน่นอนด้านการเมือง แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ 6.6% ในรอบไตรมาสแรก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่มีการซื้อสุทธิ ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนตลาดคือการประกาศตัวเลขรายได้ในรอบปีงบประมาณ 2552 ของภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตัวอย่างเช่น บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย มีตัวเลขรายได้ในรอบปีทะยานขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกเช่น บมจ. ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส มีปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อที่ได้รับสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ภาคธุรกิจการเงิน เช่น บมจ. ธนาคารกสิกรไทย และ บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ ต่างรายงานตัวเลขรายได้ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความตื่นเต้นให้ตลาดด้วยการประกาศอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากฐานะทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ อีกหลายบริษัทที่อเบอร์ดีนถือหุ้นอยู่ก็ได้ประกาศตัวเลขเงินปันผลที่ดีเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงบริษัทประกันวินาศภัย บมจ. กรุงเทพประกันภัย บริษัทค้าปลีกซุปเปอร์มาร์เก็ตกึ่งสรรพสินค้าเช่น บมจ. บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และบริษัทบรรจุขวดเครื่องดื่มเป๊ปซี่อย่าง บมจ. เสริมสุข ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาแล้วนี้รวมถึงฐานเปรียบเทียบผลประกอบการในปีก่อนหน้าที่เป็นตัวเลขต่ำ เราคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปี 2553 ตัวเลขรายได้ของภาคธุรกิจจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีความหวังว่าตัวเลขจะยังคงขึ้นในทิศทางเดียวกันในไตรมาสสองของปี 2553 อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมากที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งพัฒนาการทางด้านการเมือง ระดับความแข็งแกร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเติบโตของรายได้ในภาคธุรกิจ แต่การยุบสภาก่อนเวลาอันควรอาจจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้นและทำให้โครงการใช้จ่ายในระยะยาวเกือบทั้งหมดหรือทั้งหมดของรัฐบาลต้องหยุดชะงักลง ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในขณะนี้ การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับราคาที่ไม่ถูกมากหรือไม่แพงมาก โดยมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร ในปี 2553 จากการประมาณการของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ที่ 12 เท่า แต่ยังมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่น่าพอใจ แม้ว่าฝ่ายการลงทุนของอเบอร์ดีนจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เราให้ความสนใจต่อประเด็นภาพรวมของสถานการณ์น้อยกว่าแนวโน้มในระยะยาวของบริษัทต่างๆที่เราถือหุ้นอยู่ซึ่งยังดำเนินธุรกิจได้ดี เนื่องจากเกือบทุกบริษัทล้วนเป็นบริษัทที่มีคุณภาพสูงในตลาดและมีสถานะที่มั่นคงในการเติบโตต่อไป ประกอบกับมีภาระหนี้สินภายนอกน้อยหรือไม่มีเลย และให้อัตราผลตอบแทนสูงอย่างมีนัยสำคัญจากคุณภาพของหุ้นและจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในหุ้นดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้ไทย ตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มต้นปี 2553 ด้วยตัวเลขที่แข็งแกร่ง โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับตัวลดลงประมาณ 0.20 - 0.40% ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการกลับทิศทางการปรับตัวจากช่วงไตรมาสสี่ของปี 2552 แรงหนุนที่ทำให้เกิดการกลับทิศทางมาจากการให้น้ำหนักมูลค่ากับตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้นในดัชนี เอชเอสบีซี เอเชียน โลเคิล บอนด์ อินเด็กซ์ (HSBC Asian Local Bond Index) เพิ่มขึ้นอีก 2% มาอยู่ที่ 7.8% แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพันธบัตรเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายในตลาดลดลงในช่วงเวลาที่เหลือของไตรมาสแรก โดยนักลงทุนยังไม่เข้าลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทั้งตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว วิกฤตหนี้สินของกรีซ คำตัดสินของศาลฎีกาที่สั่งให้ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และการประท้วงบนท้องถนนของกลุ่มคนเสื้อแดง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต้องหยุดกิจกรรมเพื่อรอดูสถานการณ์ มีเพียงพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเท่านั้น (ที่ยาวกว่า 10 ปี) ที่ยังคงปรับตัวขึ้นได้ดี เนื่องจากมีแรงซื้อจากหลายๆ บริษัทประกันชีวิตและจากนักลงทุนที่สนใจการลงทุนระยะยาว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในกลุ่มนี้ปรับลดลงอีก 0.50% ในไตรมาสแรก จากการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ไทยของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบไตรมาสแรก อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 2% โดยส่วนใหญ่เกิดจากการปรับตัวขึ้นสูงของดัชนีในเดือนมกราคม แม้ว่าในรอบไตรมาสนี้จะมีการออกพันธบัตรใหม่จากรัฐบาลในปริมาณมากด้วยก็ตาม ในขณะที่เราก้าวสู่ไตรมาสที่สองของปี 2553 เราคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งยืนยันได้จากคำแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงถูกตรึงไว้ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่ 1.25% เราเชื่อว่าการฟื้นตัวในรอบหกเดือนที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในหลายภาคส่วนมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เช่น การเริ่มสะสมสินค้าคงคลังอีกครั้งและการกลับมาของการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้นในไตรมาสสองของปี 2553 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของตลาดที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น แต่ด้วยราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นและการยกเลิกมาตรการมอบเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ เราคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนต่อๆมา ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะริเริ่มวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบในไตรมาสสองนี้ แต่การปรับขึ้นจะมีรูปแบบที่ค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะนี้ เราเชื่อมั่นว่าตลาดยังไม่ได้นำปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะมาถึง มาร่วมคำนวณอัตราผลตอบแทนอย่างเต็มที่ และเราคาดว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรระยะสั้นจะขยับตัวสูงขึ้น การประกาศปริมาณการออกพันธบัตรใหม่ของรัฐบาลในไตรมาสสองเมื่อไม่นานมานี้ดูจะเป็นผลดีสำหรับพันธบัตรระยะยาว และเราน่าจะเห็นทิศทางของอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรระยะยาวทรงตัวในระดับต่ำต่อไป แต่ปัจจัยการเมืองจะยังคงคาดการณ์ได้ยากและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ จิรชยา ลาภถาวรเกียรติ โทร. 0-2352-3387 Assistant Manager การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ