กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สวรส.
นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่าทาง ศบ.สต.ได้รวบรวมข้อมูลสภาพการทำงานของบุคลากรในพื้นที่โดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ของเครือข่ายภาคใต้ที่สนับสนุนโดย สวรส. สปสช. มสช.และ สพช. เพื่อสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ทั้งนี้พบว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการหลายเรื่อง อาทิ เรื่องความปลอดภัย เรื่องระบบฐานข้อมูล การเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ การพัฒนาระบบบริการภาวะฉุกเฉิน ระบบการส่งต่อผู้ป่วย และเรื่องงานเชิงรุก ทั้งนี้ได้เสนอข้อมูลดังกล่าวในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบริหารในภาวะวิกฤตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรม เจ บี หาดใหญ่ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนายการโรงพยาบาลจังหวัด ผู้อำนายการโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยคาดหวังว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้ข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถดำเนินการมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งในระดับบุคคลและองค์กรได้ดีขึ้น รู้จักเจรจาต่อรอง ไกล่เกลี่ย เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง และสามารถจัดทำแผนเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในการประชุมจะมีทั้งการให้แนวคิด ทฤษฏี มีเหตุการณ์จำลองให้ไปคิดไปทำ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีแผนเผชิญเหตุซึ่งผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์ โดยมีอาจารย์จากสถาบันต่างๆ เป็นวิทยากรสนับสนุน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน
นอกจากการจัดเวทีเชิงปฏิบัติการแล้ว ยังได้จัดทำคู่มือแนวทางในการดูแลตนเองและองค์กร โดยวิเคราะห์และรวบรวมประเด็นต่างๆ ว่าควรมีการปฏิบัติอย่างไรบ้าง และจะเกิดประโยชน์อย่างไร เช่น กรณีรถโดนตะปูเรือใบ สิ่งที่จะต้องทำคืออะไร เพื่อให้รถสามารถวิ่งต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เป็นต้น
เหตุการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันกำลังกลายเป็นลูกโซ่ที่บ่อนทำลายทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้ง สุขภาพของประชาชน ชาวบ้านไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกลอบทำร้าย ทำให้เศรษฐกิจของครอบครัวถดถอย บางครั้งมีการเจ็บป่วย เช่น มีอาการปวดท้องอย่างหนักในยามค่ำคืน ก็ไม่สามารถออกไปพบแพทย์ได้เพราะความหวาดกลัว ต้องรอให้ถึงรุ่งเช้าก่อนจึงจะไปพบแพทย์ เงื่อไขเหล่านี้บ่อนทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ตกต่ำอย่างรวดเร็ว
ทางด้าน ผศ.ดร.ภก. พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ คณะกรรมการศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาและแก้ไขภาวะสุขภาพของประชาชนชาวใต้ ภายใต้วิกฤตความรุนแรง กล่าวว่า การที่รัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงจะเร่งสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ด้วย ทางออกทางเดียวที่จะสลายสถานการณ์นี้ได้ คือการเจรจาต่อรองกับผู้มีบทบาทหรือมีอำนาจในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กรณีที่ยังไม่รู้ตัวผู้ที่จะเจรจาต่อรองด้วย อาจต้องใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ ปัจจุบันสิ่งที่น่าห่วงคือ สื่อหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ล้วนเสนอข่าวความรุนแรงจากเหตุการณ์ เป็นการเสนอภาพด้านลบ ซึ่งอาจเป็นการเติมไฟ สร้างความโกรธแค้นและขยายความแตกแยกของคนในชาติ และจะซ้ำเติมปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สื่อสารสาธารณะเหล่านี้ควรที่จะนำเสนอเรื่องราวเชิงบวกที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนแนวทางสร้างความสมานฉันท์ควบคู่กันด้วย
ขณะเดียวกันควรหันมามองถึงมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว คือ 1.ต้องสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจครัวเรือน 2. ขจัดเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความแตกแยกในชุมชน ต้องให้ความเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้ง การเคารพในสิทธิชุมชน สิทธิมลายู สิทธิวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้ภาษามลายูเป็นภาษาถิ่น 3.เรื่องการสื่อสารสาธารณะ ทำอย่างไรที่จะส่งข่าวสารที่ถูกต้องให้ถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม เหล่านี้คือแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรง
ผู้อำนวยการ สวรส.ภาคใต้ มอ. กล่าวต่อว่านำเอางานวิจัยเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยการสำรวจจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านสาธารณสุขในสถานพยาบาล พบว่าจำนวนผู้ป่วยนอกไม่ได้เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มีความรุนแรงของอาการมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานงานเชิงรุกลดลง เช่นการส่งเสริม ป้องกันโรค ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตผู้ป่วยจะมาด้วยอาการที่หนักขึ้นและมากขึ้น ด้วย
ผลจากการวิจัยพบว่า ระบบบริการสาธารณสุขที่ต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วนคือ ระบบส่งต่อในภาวะวิกฤต ในส่วนกำลังคนพบว่าจำนวนแพทย์โดยรวมไม่ได้ขาดแคลนไปจากเดิม ยกเว้นศัลยแพทย์ แต่บุคลากรที่จำเป็นและต้องเติมเต็มในพื้นที่ด่วนคือ พยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายผลิตพยาบาล 3,000 คน นอกจากนี้ สวรส.ภาคใต้กำลังทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในระบบสุขภาพชุมชน ที่จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน ภายใต้วิกฤตเช่นนี้ เช่นการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขพันธุ์ใหม่ เป็นการพัฒนา อสม. เหล่านี้ให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105 Email:prhsri@hotmail.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net