วันสุดท้ายสงกรานต์ ปี 53 ผู้เสียชีวิต 55 คน รวม 7 วัน ผู้เสียชีวิต 361 คน

ข่าวทั่วไป Monday April 19, 2010 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ปภ. วันสุดท้ายสงกรานต์ ปี 53 ผู้เสียชีวิต 55 คน รวม 7 วัน ผู้เสียชีวิต 361 คน ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 18 เม.ย. 53 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 298 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 55 คน ผู้บาดเจ็บ 300 คน รวม 7 วัน (วันที่ 12 — 18 เม.ย. 53) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,516 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 361 คน ผู้บาดเจ็บ 3,802 คน ทั้งนี้ ศปถ. จะมุ่งเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึก ความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงผลักดันการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 18 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย คนไทยรักกัน” เกิดอุบัติเหตุ 298 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (343 ครั้ง) 45 ครั้ง ร้อยละ 13.12 ผู้เสียชีวิต 55 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (52 คน) 3 คน ร้อยละ 5.77 ผู้บาดเจ็บ 300 คน ลดลงจากปี 2552 (371 คน) 71 คน ร้อยละ 19.14 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 29.53 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 17.11 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.61 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 59.06 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.92 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 27.52 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 31.21 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 54.08 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี 5 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 18 คน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,546 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 67,358 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 593,987 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 78,440 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.21 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 24,526 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 21,915 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (วันที่ 12 — 18 เม.ย. 53) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,516 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (3,977 ครั้ง) 461ครั้ง ร้อยละ 11.59 ผู้เสียชีวิตรวม 361 คน ลดลงจากปี 2552 (373 คน) 12 คน ร้อยละ 3.22 ผู้บาดเจ็บรวม 3,802 คน ลดลงจากปี 2552 (4,332 คน) 530 คน ร้อยละ 12.23 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 142 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 18 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 159 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน มี 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สุโขทัย และยะลา นายบุญจง กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการเดินทางให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจร แต่ก็สามารถป้องปรามผู้กระทำผิดได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและการขาดทักษะในการขับขี่อย่างปลอดภัยของผู้ขับขี่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยให้ความรู้ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ต้องเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทุกระดับ โดยให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนครั้ง ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 และการรายงานสรุปสถานการณ์โดยมีการสั่งการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละวัน รวมถึงการรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรณรงค์สร้างวินัยจราจรในกลุ่มเด็กและเยาวชน การสนับสนุนให้ท้องถิ่นร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้เสนอแนวทางการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์นำเรียนคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ