สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำไตรมาส 1/2553 และเดือนมีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 19, 2010 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ตลท. ภาพรวมของภาวะตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 1 /2553 ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 7.28 จากสิ้นปี 2552 สูงเป็นอันดับสองเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 7.79 จากสิ้นไตรมาส 4/2552 มาอยู่ที่ 6,372,971.54 ล้านบาท จากการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในไตรมาส 1/2553 อยู่ที่ 19,586.87 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.98 จากไตรมาส 4/2552 แต่ยังสูงกว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในปี 2552 ที่ 18,226.25 ล้านบาท โดยภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศที่มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิติดต่อกันตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ จนถึง 31 มีนาคม 2553 และทั้งไตรมาส 1/2553 นักลงทุนต่างประเทศ มีมูลค่าซื้อสุทธิ 42,474.28 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในปี 2552 ตลอดทั้งปีที่ 38,013 ล้านบาท ด้านภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ในไตรมาส 1/2553 ปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 14,599 สัญญา ปรับลดลงร้อยละ 7.95 จากไตรมาส 4/2552 โดยเป็นผลจากการปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures ที่ลดลงร้อยละ 11.21 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 1/2552 ปริมาณสัญญาการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในไตรมาส 1/2553 ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 69.34 ด้านการระดมทุนในไตรมาส 1/2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนรวม 10,258.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 จากไตรมาส 4/2552 โดยเป็นการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่จำนวน 1 บริษัท คือ บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) ซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 4,692.00 ล้านบาท ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองของ SET และ mai มีมูลค่ารวม 5,566.85 ล้านบาท สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2553 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 9.23 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดของตลาดในภูมิภาค โดยนักลงทุนต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิในทุกวันทำการและมีมูลค่าซื้อสุทธิอยู่ที่ 44,567 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 51 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2549 ด้านภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อย่างชัดเจน โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 24,951.89 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.16 ขณะที่ปริมาณสัญญาการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดตราสารอนุพันธ์อยู่ที่ 16,592 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.44 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 ดัชนี SET ปิดที่ 787.98 จุด ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.28 จากสิ้นปี 2552 ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับที่สองรองจากอินโดนิเซีย เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยตัวชี้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับภาพรวมของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/2552 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.80 จากไตรมาส 4/2551 ขณะที่ตัวชี้เศรษฐกิจเบื้องต้นในช่วงไตรมาส 1/2553 ส่งสัญญาณของเศรษฐกิจที่มีการขับเคลื่อนอย่างสมดุลมากขึ้นทั้งอุปสงค์ต่างประเทศ และอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยกำไรสุทธิในปี 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44.08 จากปีก่อนหน้าจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากสภาพคล่องในตลาดทุนโลกที่ยังมีอยู่สูง รวมทั้งความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ ต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและแนวโน้มของอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ยังเผชิญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินและปัญหาการว่างงานที่สูง ตลอดจนมีข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ทำให้มีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากสถาบันการเงินชั้นนำบางแห่ง เช่น Morgan Stanley และ CLSA ได้ให้คำแนะนำด้านบวกแก่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนี SET ซึ่งปรับสูงขึ้นส่งผลให้ค่า Forward P/E ratio ของไทยปรับสูงขึ้นเป็น 11.9 เท่า เทียบกับระดับ 10.9 เท่า ในไตรมาส 1/2552 อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai Index) ปิดที่ 212.43 จุด ลดลงร้อยละ 1.33 จากสิ้นปี 2552 ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 มีมูลค่า 6,372,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.79 จากสิ้นปี 2552 ตามการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ในเดือนมีนาคม 2553 ดัชนี SET ปรับขึ้นร้อยละ 9.23 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์ของทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดของตลาดในภูมิภาคในเดือนนี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศที่มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิในทุกวันที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนนี้ ขณะที่ปัจจัยด้านความขัดแย้งการเมืองยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วงนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ภาครัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่เกิดความรุนแรง นอกจากนี้ Morgan Stanley ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ได้ปรับคำแนะนำต่อน้ำหนักการลงทุนในตลาดไทยจากคงสัดส่วนการลงทุน (equal-weight) เป็นเพิ่มสัดส่วนการลงทุน (overweight) โดยชี้ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่เข้มแข็งและราคาหุ้นที่ไม่สูงนักเป็นสาเหตุสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ปิดไตรมาสที่ 212.43 ทรงตัวเมื่อเทียบกับดัชนี ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ที่ 212.16 จุด 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในไตรมาส 1/2553 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2552 แต่ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2552 โดยในไตรมาส 1/2553 มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวม 1,214,385.97 ล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 19,586.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.29 จากไตรมาส 1/2552 สะท้อนการฟื้นตัวของภาวะตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันปรับลดลงร้อยละ 4.98 จากไตรมาส 4/2552 ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 20,613.79 ล้านบาท เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนชะลอการซื้อขายในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งรอความชัดเจนของคำตัดสินของศาลทั้งในกรณีปัญหาโครงการในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและคดียึดทรัพย์ของอดีตผู้นำทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม จากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2553 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันต่ำสุดมีมูลค่าอยู่ที่ 7,744.16 ล้านบาท ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ขณะที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุดอยู่ที่ 42,405.85 ล้านบาท ในวันที่ 22 มีนาคม 2553 โดยมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันในไตรมาส 1/2553 สูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยรายวันของการซื้อขายในปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 18,226.25 ล้านบาท ยังสะท้อนถึงทิศทางของภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาการซื้อขายหลักทรัพย์ (รวม SET และ mai) แยกตามประเภทนักลงทุน ในไตรมาส 1/2553 นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิด้วยมูลค่า 42,474.28 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในปี 2552 ตลอดทั้งปีที่ 38,012.81 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.87 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 22.02 ในไตรมาส 1/2553 ด้านบริษัทหลักทรัพย์มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิเช่นกันที่มูลค่า 641.43 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.83 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 14.45 ในไตรมาส 1/2553 ขณะที่นักลงทุนบุคคลทั่วไปและนักลงทุนสถาบันเป็นผู้ขายสุทธิในไตรมาสนี้ โดยนักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ขายสุทธิ 31,347.44 ล้านบาท มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลงจากร้อยละ 58.62 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 55.87 ในไตรมาส 1/2553 และนักลงทุนรายสถาบันมีมูลค่าขายสุทธิ 11,768.28 ล้านบาท มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.68 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 7.66 ในไตรมาส 1/2553 การเข้าจดทะเบียนของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.27 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 6.03 ในไตรมาส 1/2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เหลือเปลี่ยนแปลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2552 สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40.75 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 39.42 ในไตรมาส 1/2553 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดอันดับ 11-30 (SET11-30) มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 23.92 ในไตรมาส 4/2552 เป็นร้อยละ 28.40 ในไตรมาส 1/2553 ในเดือนมีนาคม 2553 มูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 24,951.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.16 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นผลจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิทุกวันและมีมูลค่าซื้อสุทธิทั้งสิ้น 44,567.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าซื้อสุทธิสูงสุดในรอบ 51 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2549 ซึ่งมีมูลค่าซื้อสุทธิอยู่ที่ 74,817.24 ล้านบาท และมากกว่ามูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในปี 2552 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 38,012.81 ล้านบาท ด้านบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิเช่นกันในเดือนมีนาคม 2553 ที่มูลค่า 3,106.55 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนบุคคลทั่วไปเป็นผู้ขายสุทธิด้วยมูลค่า 38,299.15 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเปลี่ยนสถานะจากผู้ซื้อสุทธิ 5,844.84 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นผู้ขายสุทธิ 9,374.27 ล้านบาทในเดือนนี้ สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2553 แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงจากร้อยละ 32.91 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.62 ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 23.70 และ 7.01 มาอยู่ที่ร้อยละ 26.62 และ 8.52 ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาดพบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก (SET10) ปรับลดลงจากร้อยละ 43.35 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 38.32 ในเดือนมีนาคม 2553 ขณะที่การซื้อขายในกลุ่มหลักทรัพย์ SET 11-30 และ SET 31-50 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.82 และ 9.58 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 26.79 และ 12.43 ตามลำดับ 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ปรับตัวลดลงตามมูลค่าการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลง เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลตรุษจีนประกอบกับนักลงทุนบางส่วนชะลอการซื้อขายเพื่อรอความชัดเจนของพัฒนาการด้านการเมืองในช่วงปลายเดือน ทั้งนี้สัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ (active rate) อยู่ที่ร้อยละ 19.35 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2553 ที่มีสัดส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนอยู่ที่ร้อยละ 23.11 และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 2.92 ล้านบาท สำหรับจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 42,541 บัญชี ลดลงร้อยละ 13.69 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ร้อยละ 20.35 ลดลงจากร้อยละ 21.32 ในเดือนมกราคม 2553 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในไตรมาส 1/2553 ตลาดอนุพันธ์มีการซื้อขายรวม 905,153 สัญญา คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 14,599 สัญญา ลดลงร้อยละ 7.95 จากไตรมาส 4/2552 โดยเป็นผลจากการปริมาณการซื้อขายของ SET50 Index Futures ที่ลดลงร้อยละ 11.21 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 1/2552 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในไตรมาส 1/2553 ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 69.34 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกตราสาร ที่สำคัญจาก Gold Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า (ร้อยละ 508.01) จากไตรมาส 1/2552 และจาก Single Stock Futures ที่เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า (ร้อยละ 778.36) ในเดือนมีนาคม 2553 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขาย 365,026 สัญญา สูงสุดนับตั้งแต่ตลาดอนุพันธ์เริ่มดำเนินการซื้อขายในเดือนเมษายน 2549 โดยในเดือนมีนาคม 2553 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 16,592 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.44 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่สำคัญจาก SET50 Index Futures และ Single Stock Futures ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.57 และร้อยละ 42.50 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามลำดับ ขณะที่ Gold Futures มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันลดลงร้อยละ 46.81 ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนว่ามีนักลงทุนใน Gold Futures บางส่วนหันไปลงทุนในตลาดหุ้นหรือตราสารอนุพันธ์ที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงในช่วงที่ดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัวในเดือนนี้ 5. ภาพรวมการระดมทุน ในไตรมาส 1/2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนรวม 10,258.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 จากไตรมาส 4/2552 โดยเป็นการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่จำนวน 1 บริษัท คือ บริษัท อินโดรามาเวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) ซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 4,692.00 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.74 ของมูลค่าการระดมทุนรวมทั้งหมดในไตรมาสนี้ ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองของ SET และ mai มีมูลค่ารวม 5,566.85 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่า 2,281.24 ล้านบาท รองลงมาคือการระดมทุนจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และจากผู้ถือหุ้นในวงจำกัด มูลค่า 2,173.78 ล้านบาท และ 1,111.83 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2552 มูลค่าการระดมทุนในไตรมาส 1/2553 ลดลงร้อยละ 14.23 เป็นผลจากการลดลงของการระดมทุนในตลาดรองเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการระดมทุนสูงสุดในไตรมาส 1/2553 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 5,158.11 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 50.28 ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมด) รองลงมาคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างซึ่งมีมูลค่าระดมทุน 1,777.26 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 17.32 ของมูลค่าการระดมทุนทั้งหมด) สำหรับการระดมทุนในเดือนมีนาคม 2553 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 2,503.46 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 62.19 จากเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 44.90 จากเดือนมีนาคม 2552 โดยในเดือนมีนาคม 2553 มีเพียงการระดมทุนในตลาดรองเท่านั้น ซึ่งการระดมทุนส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัท อั่งเปา แอสเสท จำกัด (มหาชน) (A-PAO) มูลค่า 757.93 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นในวงจำกัด และการระดมทุนของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) มูลค่า 382.21 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229-2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229-2048 / ณัฐยา เมืองแมน โทร. 0-2229-2043

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ