กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายฝึกซ้อมแผนก่อวินาศกรรมสารเคมีและวัตถุอันตราย (รังสี) ในวันที่ ๒๒ — ๒๓ เมษายน ๒๕๕๓ ณ จังหวัดนครปฐม เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติงานทั้งบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือตามแผนปฏิบัติการ ตลอดจนพัฒนาระบบจัดการและตอบโต้สถานการณ์อุบัติภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า นับวันปัญหาการก่อวินาศกรรม และสถานการณ์อุบัติภัยสารเคมีจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินแบบบูรณาการ จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมี / วัตถุอันตราย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๐ — ๒๕๕๔) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการระงับเหตุฉุกเฉิน ดังนั้น เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของแผนฯและเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนสามารถจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้กำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง โดยใช้ชื่อรหัสว่า NBC (Nuclear Biological Chemical Exercise) ณ จังหวัดนครปฐม โดยแบ่งการฝึกซ้อมเป็น ๒ ช่วง ดังนี้ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ การประชุมเชิงปฏิบัติการก่อนการฝึกซ้อม ณ โรงแรมเวล เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และประเมินขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติจากสารเคมีและวัตถุอันตราย วันศุกร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๓ การฝึกซ้อมภาคสนาม บริเวณถนนเพชรเกษม (ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ) หน้าโรงแรมริเวอร์และทุ่งพระเมรุ แยกพื้นที่การฝึกซ้อมเป็น ๕ จุด โดยจำลองเหตุวินาศกรรมอุบัติเหตุรถตู้ขนวัตถุอันตรายชนกับรถโดยสารและรถบรรทุก ถังก๊าซหุงต้ม ทำให้สารกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปยังพื้นที่โดยรอบ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องระดมสรรพกำลังทั้งทีมกู้ภัย เครื่องมือเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนฯ ดังกล่าว เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยจากการก่อวินาศกรรมแบบครบวงจรทั้งภาวะปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนาระบบการจัดการและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินสารเคมีวัตถุอันตรายให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ