กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ปตท.
คัดเลือกจาก 281 ผลงานของ 156 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศจนเหลือเพียง 30 ผลงาน โดยแต่ละผลงานประกอบด้วยสมาชิกทีมละ 4 คน รวมนักศึกษาทั้งสิ้น 120 คนเข้าค่ายเรียนรู้พลังงานก่อนชิงชัยสุดยอดผลงานสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2553 ต่อไป นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. จัดโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ด้านการประหยัดพลังงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยโครงการ PTT Youth Camp 2010 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทาง ปตท. มุ่งหวังดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ ได้รับรู้ถึงบทบาทและประโยชน์ของพลังงาน รวมถึงความสำคัญของพลังงานรูปแบบต่างๆ เนื่องจากพลังงานเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และภายใต้สภาวะวิกฤติพลังงานที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นว่า ปัญหาด้านพลังงานนั้นไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง จึงเป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยของเราต้องเร่งพัฒนาบุคลากรของชาติให้มีจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างรู้ค่าควบคู่กับทักษะการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีด้านพลังงาน
สำหรับโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนประจำปี 2553 หรือ PTT Youth Camp 2010 ได้กำหนดจัดค่ายเรียนรู้พลังงาน ระหว่างวันที่ 21 - 23 เมษายน และ วันที่ 12 — 14 พฤษภาคม 2553 สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และ อาชีวศึกษา ตามลำดับ โดย ปตท.ได้จัดกิจกรรมด้านวิชาการเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีด้านพลังงานรูปแบบต่างๆ การบรรยาย เรื่องนักประดิษฐ์คิดก้าวหน้า การแนะนำการผลิตสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน รวมถึงการเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความรู้ด้านพลังงานแล้ว ค่ายเรียนรู้พลังงานเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ ปตท. ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีใจใฝ่เรียนรู้และค้นคว้าตลอดเวลา รวมถึงการฝึกฝนร่วมกันทำงานเป็นทีม ความมีระเบียบวินัย จนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน นอกจากนี้เยาวชนที่ร่วมค่ายเรียนรู้พลังงานจะได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จริงในการผลิตสิ่งประดิษฐ์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดส่งชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์แข่งขันระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป โดยประเภทของการประกวด ในปี 2553 ซึ่งจะทำการตัดสินรอบสุดท้ายในเดือนตุลาคม 2553 นั้น ได้แบ่งการประกวดออกเป็น 3 ระดับ โดยมีขอบเขตในการจัดทำสิ่งประดิษฐ์ เพื่อให้สอดคล้องกับวัยและพื้นฐานด้านความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาของแต่ละระดับแบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ และวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สิ่งประดิษฐ์เพื่อพลังงานสีขาว) และระดับอาชีวศึกษา (ปวช. หรือ ปวส. หรือ ปวท.) หรือเทียบเท่า (สิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชน บนวิถีชีวิตพอเพียง)
อนึ่ง รางวัลที่ได้รับจากประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ประกอบด้วยถ้วยรางวัลพระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 3 แสนบาทด้วย