โทรศัพท์มือถือของแท้ VS ของปลอมแปลง กับความปลอดภัยของผู้ใช้

ข่าวทั่วไป Thursday June 28, 2007 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ของแท้ VS ของปลอมแปลง
หลายคนอาจคิดว่าโทรศัพท์มือถือของแท้และของปลอมแปลง หน้าตาเหมือนกัน ไม่เห็นจะมีความแตกต่างกันตรงไหน แต่ในความเป็นจริงของแท้และของปลอม มีความแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต การรับประกันคุณภาพสินค้า ประสิทธิภาพการใช้งาน และที่สำคัญคือความปลอดภัยในการใช้งาน ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ของปลอมแปลงที่กำลังระบาดในปัจจุบัน มีทั้งตัวเครื่อง และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ สายชาร์ต หูฟัง หูฟังบลูทูธ หน้ากาก แป้นกด และอื่นๆ โทรศัพท์และอุปกรณ์ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานและของปลอมมักจะใช้วัสดุคุณภาพต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถนำมาขายได้ในราคาถูก ซึ่งวัสดุคุณภาพต่ำบวกกับการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ของปลอมแปลงมีประสิทธิภาพในการใช้งานต่ำ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น กระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือแบตเตอรี่ระเบิด
อันตรายจากแบตเตอรี่ระเบิด
การใช้แบตเตอรี่ปลอมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกคำเตือนล่าสุดว่าอย่าใช้แบตเตอรี่มือถือปลอม แม้ว่าหน้าตาจะเหมือนกัน แต่คุณภาพนั้นเทียบกันไม่ได้เลย แบตเตอรี่แท้ มีการติดตั้งวงจรป้องกันการลัดวงจร แต่แบตเตอรี่ปลอมจะใช้วัสดุคุณภาพต่ำเพื่อลดต้นทุนในการผลิต อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ระเบิดไฟลุกไหม้ขณะชาร์จ ความร้อนอาจทำให้แบตเตอรี่บวม เสื่อมเร็ว แม้กระทั่งการจ่ายไฟที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้โทรศัพท์เสื่อมเร็ว หรือระบบทำงานไม่ปกติ เป็นต้น
สัญญาณวิทยุที่ปลอดภัยกับร่างกาย
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลย คือสัญญาณวิทยุจากโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มาตรฐานจะถูกออกแบบให้รับและส่งสัญญาณวิทยุในระดับที่ปลอดภัยกับร่างกาย ซึ่งมีหน่วยวัดที่เรียกว่า SAR ที่ไม่ควรเกิน 2 วัตต์ต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคสามารถสังเกตข้อความที่ระบุไว้ในคู่มือการใช้งาน ซึ่งของปลอมแปลงอาจส่งสัญญาณวิทยุสูงกว่าค่า SAR ตามข้อกำหนด และทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
โนเกีย — แบรนด์ยอดฮิตของปลอมแปลง
ความนิยมอย่างสูงของโนเกีย ทำให้เกิดของปลอมแปลงมาหลอกลวงผู้บริโภคและเป็นอันตรายต่อการใช้งาน ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลรุ่นที่ต้องการซื้อทุกครั้ง หากเป็นรุ่นที่โนเกียไม่เคยประกาศเปิดตัว เช่น N97 N99 นั่นหมายถึง ของปลอมแปลงแน่นอน หรือแม้แต่รุ่นที่โนเกียมีการประกาศเปิดตัวและวางจำหน่ายทั่วไปก็ควรตรวจสอบว่าโทรศัพท์รุ่นนั้น มีหน้าตา คุณสมบัติอย่างไร และราคาขายปลีกที่โนเกียลงโฆษณาเป็นเท่าไหร่ และควรซื้อโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมทุกชนิดจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการรับรองของโนเกียเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบรุ่นและรายชื่อตัวแทนจำหน่ายได้ที่สายด่วนโนเกีย แคร์ ไลน์ 02-640-1000 หรือ www.nokia.co.th
โทรศัพท์และอุปกรณ์โนเกียของแท้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลจาก IEC- International Electrotechnical Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก รวมทั้งแบตเตอรี่ของโนเกียยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ของไทย โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากข้อความข้างกล่อง
การตรวจสอบโทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมของโนเกีย
หากต้องการตรวจสอบว่าโทรศัพท์ของท่านเป็นของแท้หรือไม่ ทำได้ง่ายๆ โดยตรวจดูว่าหมายเลขอีมี่ (IMEI) ที่ระบุอยู่ 1. ภายในตัวเครื่อง (เมื่อถอดแบตเตอรี่ออกจะพบตัวเลขบนตัวเครื่อง) 2. ข้างกล่อง และ 3.การเรียกดูจากตัวเครื่องโดยกด *#06# ว่าเป็นหมายเลขเดียวกันหรือไม่ หากเป็นคนละหมายเลขมีความเป็นไปได้ว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นไม่ใช่ของแท้ สามารถโทรสอบถามที่โนเกีย แคร์ ไลน์ได้ว่าหมายเลขนั้นเป็นหมายเลขเครื่องที่บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้ามาจำหน่ายหรือไม่
สำหรับแบตเตอรี่ที่มาพร้อมโทรศัพท์เครื่องใหม่ หรือซื้อใหม่ในบรรจุภัณฑ์แบตเตอรี่แยกชิ้นควรมีสติ๊กเกอร์โฮโลแกรมบนตัวแบตเตอรี่ โดยสามารถตรวจสอบได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้
ขั้นที่ 1: เมื่อมองที่สติ๊กเกอร์สามมิติ คุณจะเห็นสัญลักษณ์รูปคนจับมือกันในมุมหนึ่งและโลโก้อุปกรณ์เสริมแท้โนเกียในอีกมุมหนึ่ง
ขั้นที่ 2: เมื่อคุณมองสติ๊กเกอร์สามมิติในมุมซ้าย, ขวา, ล่างและบน คุณจะเห็นจุดหนึ่งจุด, สอง, สาม และสี่จุด ตามลำดับ
โดยคุณสามารถดูรายละเอียดการตรวจสอบแบตเตอรี่เพิ่มเติมได้ที่ www.nokia.co.th/batterycheck หรือติดต่อสายด่วน โนเกีย แคร์ ไลน์
เคล็ดลับจับผิด...สินค้าปลอมแปลง
สงสัยไว้ก่อน หากพบความผิดปกติดังนี้
1. ไม่มีโลโก้โนเกีย
2. เป็นรุ่นที่โนเกียไม่เคยประกาศ
3. ไม่มีสติ๊กเกอร์โฮโลแกรม (กรณีแบตเตอรี่)
4. ไม่มีใบรับประกันสินค้า
5. ราคาแตกต่างจากที่ร้านโนเกียช้อปมาก
โนเกียห่วงใย ความปลอดภัยของคุณ
ทุกคำถามเรื่องความปลอดภัย โทรโนเกีย แคร์ ไลน์ 02-640-1000
หรือ www.nokia.co.th
การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างปลอดภัย
โทรศัพท์มือถือเป็นของจำเป็นที่อยู่ติดตัวเราทุกคนเกือบตลอดเวลา และหากเราประมาท ละเลย การใช้โทรศัพท์มือถือก็อาจกลายเป็นอันตรายได้ ฉะนั้น มาเริ่มใส่ใจเรื่องความปลอดภัยกันสักนิดด้วยวิธีการง่ายๆ เริ่มจาก
หลีกเลี่ยงของปลอมแปลง
ใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมโนเกียของแท้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดูจากภายนอกอาจไม่เห็นความแตกต่างระหว่างของจริงและของแท้ แต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นภายในนั่นเองคือที่มาและสาเหตุของความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต ไม่มีการรับประกันคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยจากคลื่นสัญญาณวิทยุ และวัสดุอุปกรณ์คุณภาพต่ำ เช่น แบตเตอรี่ที่อาจทำให้โทรศัพท์ระเบิดได้
ใส่ใจกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ในชีวิตประจำวัน
ข้อระมัดระวังต่างๆ ที่เราอาจหลงลืมไป อาทิ
- ปิดโทรศัพท์ทุกครั้งที่เติมน้ำมัน ห้ามใช้โทรศัพท์เมื่ออยู่ใกล้กับน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารเคมี และห้ามใช้โทรศัพท์ในจุดที่กำลังมีการระเบิด
- โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมอาจมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กบรรจุอยู่ ควรเก็บอุปกรณ์ดังกล่าวให้พ้นมือเด็ก
- ชิ้นส่วนของโทรศัพท์เป็นสื่อแม่เหล็ก วัสดุโลหะอาจถูกดูดติดกับเครื่องได้ อย่าวางบัตรเครดิตหรือสื่อเก็บ แม่เหล็กอื่นไว้ใกล้โทรศัพท์ เพราะข้อมูลภายในอาจถูกลบได้
- ใช้โทรศัพท์ในตำแหน่งปกติใกล้กับหูหรืออยู่ห่างจากร่างกายอย่างน้อย 2.2 เซนติเมตร
- เมื่อใช้ซองสำหรับพกพา อุปกรณ์เหน็บเข็มขัด หรือที่วางโทรศัพท์เพื่อการพกพา วัสดุต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรมีโลหะเป็นส่วนประกอบ และควรให้เครื่องอยู่ในระยะห่างจากร่างกายอย่างน้อย 2.2 เซนติเมตร
- โทรไม่ขับ...ขับไม่โทร ไม่ควรโทรศัพท์ระหว่างขับรถ เพราะสิ่งสำคัญอันดับแรกระหว่างขับรถ คือ ความปลอดภัยบนท้องถนน การโทรศัพท์อาจทำให้เสียสมาธิในการขับรถ หรือหากกรณีจำเป็นจริงๆ ควรใช้หูฟัง
- ปิดโทรศัพท์เมื่ออยู่ในโรงพยาบาลและบนเครื่องบินขณะเครื่องขึ้น-ลง เพราะอุปกรณ์ไร้สายอาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์การบิน
- ห้ามทิ้งแบตเตอรี่ลงในกองไฟ เพราะแบตเตอรี่อาจระเบิดได้ และไม่ควรทิ้งรวมกับขยะภายในบ้าน
- ห้ามถอดชิ้นส่วนของโทรศัพท์หรือแบตเตอรี่ หากพบของเหลวในแบตเตอรี่รั่วออกมา อย่าให้ของเหลวนั้นสัมผัสกับผิวหนังและดวงตา ถ้าบังเอิญสัมผัสให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หรือไปพบแพทย์
ไวรัสบนมือถือ
ไวรัสถือเป็นภัยคุกคามโทรศัพท์มือถือที่อันตรายและควรระมัดระวัง ระบบปฏิบัติการที่ตกเป็นเป้าโจมตีของไวรัส ก็คือระบบปฏิบัติการ Symbian S60 อย่างไรก็ตาม นายมิกโก ฮิปโปเนน หัวหน้านักวิจัยของ F-Secure บริษัทผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ป้องกันไวรัส เคยให้ข้อมูลไว้ว่าการที่ระบบปฏิบัติการ Symbian S60 ถูกไวรัสโจมตี ไม่ได้หมายความว่าระบบมีช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง แต่เป็นเพราะระบบปฏิบัติการ Symbian S60 เป็นระบบปฏิบัติการหลักของเครื่องสมาร์ทโฟน จึงมีรายงานการถูกโจมตีมากกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่มักพบปัญหาไวรัสกับเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์สของไมโครซอฟท์มากกว่าระบบปฏิบัติการอื่น นั่นก็เป็นเพราะเป็นระบบหลักที่มีการใช้งานมากที่สุด
แม้ไวรัสจะเป็นตัวอันตรายแต่ก็สามารถป้องกันได้ โดยได้มีการพัฒนาโปรแกรมป้องกันไวรัส อาทิ F-Secure Mobile Anti-Virus ซึ่งผู้ใช้งานควรติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส โดยดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ผู้ให้บริการ
ศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT: Thai Computer Emergency Response team) ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันไวรัสบนมือถือ โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานที่อาจเสี่ยงต่อการไวรัสดังนี้
- ระงับการดาวน์โหลด หรือรับโปรแกรมที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือที่มานั้นไม่น่าไว้วางใจ
- หมั่นตรวจสอบโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถืออยู่เสมอ หากพบโปรแกรมใดที่ไม่น่าไว้วางใจให้ทำการลบทิ้งทันที
- ไม่ควรเปิดบลูทูธไว้ตลอดเวลา และจำกัดการใช้งานบลูทูธเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดไวรัสหรือถูกโจมตีด้วยแอพพลิเคชั่นของผู้บุกรุกผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ
- งดเปิด SMS, MMS หรือแอพพลิเคชั่นที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือมีข้อความเชื้อเชิญให้เปิด ซึ่งอาจเป็นไวรัสหรือโปรแกรมอันตรายได้
- หากสงสัยว่าเครื่องโทรศัพท์ถูกไวรัสคุกคาม หรือถูกโจมตีด้วยแอพพลิเคชั่นแปลกๆ ให้ปิดเครื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสไปยังโทรศัพท์เครื่องอื่นต่อไป จากนั้นควรนำเครื่องดังกล่าวเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการทันที
ดูแลรักษามือถือของคุณ...ให้อยู่กับคุณไปนานๆ
การดูแลรักษาโทรศัพท์อย่างดี จะช่วยยืดอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือของคุณ และช่วยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
- เก็บโทรศัพท์ไว้ในที่แห้ง ฝน ไอน้ำ ความชื้น และของเหลวทุกชนิดอาจมีแร่เป็นสารประกอบซึ่งจะทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นสนิม หากตัวเครื่องเปียกชื้น ให้ถอดแบตเตอรี่ออกและปล่อยให้เครื่องแห้งสนิทดีก่อน แล้วจึงค่อยใส่แบตเตอรี่กลับเข้าไป
- อย่าใช้หรือเก็บโทรศัพท์ไว้ในบริเวณที่มีฝุ่นหรือที่สกปรก เนื่องจากอาจทำให้อุปกรณ์ส่วนที่ถอดเข้าออกได้และส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้
- อย่าเก็บโทรศัพท์ไว้ในที่ร้อนจัด เนื่องจากอุณหภูมิสูงจะทำให้อายุการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สั้นลง ทั้งยังอาจทำให้แบตเตอรี่ชำรุดเสียหาย และทำให้ส่วนที่เป็นพลาสติกละลาย
- อย่าเก็บโทรศัพท์ไว้ในที่เย็นจัด เนื่องจากเมื่อเครื่องกลับคืนสู่อุณหภูมิปกติ ความชื้นจะก่อตัวขึ้นภายในเครื่อง ซึ่งอาจทำให้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้
- อย่าพยายามเปิดดูภายในเครื่องโทรศัพท์นอกเหนือจากที่แนะนำไว้ในคู่มือผู้ใช้งาน
- อย่าโยน เคาะ หรือเขย่าโทรศัพท์ การใช้งานโดยไม่ถนอมเครื่องอาจทำให้แผงวงจรภายในและกลไกที่ละเอียดอ่อนเกิดความเสียหายได้
- อย่าใช้สารเคมี น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกชนิดเข้มข้นทำความสะอาดเครื่อง
- อย่าทาสีโทรศัพท์ เนื่องจากสีอาจเข้าไปอุดตันในชิ้นส่วนที่เลื่อนได้ของโทรศัพท์และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของโทรศัพท์
- อย่าให้หน้าจอแสดงผลหลักกระทบกับวัสดุมีคมหรือของแข็ง สิ่งของ เช่น ตุ้มหูหรือเครื่องประดับอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วนที่หน้าจอได้
- ใช้ผ้าแห้ง สะอาด และนุ่มทำความสะอาดเลนส์ (เช่น เลนส์ของกล้องถ่ายรูปพรอกซิมิตี้เซนเซอร์ และเลนส์เซนเซอร์แสง)
- ใช้เสาอากาศที่ติดมากับเครื่องหรือเสาอากาศสำหรับเปลี่ยนที่ได้รับการรับรองเท่านั้น การใช้เสาอากาศที่ไม่ได้รับการรับรอง การดัดแปลง หรือต่อเติมเสาอากาศอาจทำให้โทรศัพท์เกิดความเสียหายและยังผิดกฎหมายว่าด้วยอุปกรณ์สื่อสารวิทยุอีกด้วย
- ใช้อุปกรณ์ชาร์จที่ได้รับการรับรองและเหมาะสมกับเครื่องแต่ละรุ่น
- ทำสำเนาข้อมูลที่คุณต้องการเก็บไว้(เช่น รายชื่อและบันทึกในปฏิทิน) ก่อนส่งโทรศัพท์ของคุณเข้าศูนย์บริการเสมอ
- ควรรีเซ็ตอุปกรณ์เป็นระยะๆ เพื่อสมรรถนะสูงสุดในการใช้งาน โดยปิดสวิตช์โทรศัพท์และถอดแบตเตอรี่ออก
- คำแนะนำข้างต้นทั้งหมดใช้ได้กับโทรศัพท์แบตเตอรี่ แท่นชาร์จ หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆหากอุปกรณ์ใดทำงานไม่ถูกต้อง ให้นำไปยังศูนย์บริการที่ได้รับการรับรองใกล้บ้านคุณเพื่อขอรับบริการ
ทำอย่างไร...หากเกิดกรณีเหล่านี้
ข้อแนะนำเบื้องต้น หากโทรศัพท์ของคุณประสบเหตุเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นการช่วยบรรเทาความเสียหาย ก่อนส่งเข้าศูนย์บริการต่อไป
มือถือตกน้ำ*
- เมื่อนำมือถือ ออกมาจากแหล่งน้ำได้แล้ว อย่าเพิ่งกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องโดยเด็ดขาด เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ยังเปียกน้ำ หรือยังมีความชื้น การกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องอาจทำให้เกิดการลัดวงจรและเสียหายหนัก หรือเสียหายถาวรได้
- ห้รีบถอดส่วนประกอบต่างๆ ของ มือถือ ออกจากกันอย่างรวดเร็ว (ส่วนประกอบที่สามารถถอดได้เองตามปกติ) ไม่ว่าจะเป็น ซิมการ์ด, แบตเตอรี่, หน้ากาก, ฝาหลัง, ฯลฯ
- เมื่อถอดส่วนประกอบต่างๆ เท่าที่สามารถถอดได้เรียบร้อยแล้ว อาจจะใช้การสลัดน้ำด้วยแรงพอประมาณ รวมถึงให้นำผ้า (ชนิดที่ไม่มีขน) หรือกระดาษทิชชู (คุณภาพดี ไม่เป็นขุย) มาซับน้ำที่เกาะอยู่ตามจุดต่างๆ ให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจจะใช้พัดลมช่วยเป่าด้วยก็ได้
- ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งเด็ดขาด เนื่องจากลมจากไดร์เป่าผมมีความร้อนสูง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในได้โดยง่าย
- ไม่ควรนำ มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ ไปตากแดด เพื่อหวังให้แห้งเร็วขึ้น เพราะความร้อนจากแสงแดดนั้นสูงเกินไปสำหรับ มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ
- ยังไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากวงจรภายในอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับกระแสไฟฟ้า
- นำเครื่องเข้าศูนย์บริการโนเกียเพื่อการตรวจเช็คโดยละเอียด
*ข้อมูลจาก www.thaimobilecenter.com
มือถือติดไวรัส
ไวรัสมีหลายประเภท และก่อให้เกิดอาการแตกต่างกันไป หากสงสัยว่าเครื่องของคุณติดไวรัสควรนำเครื่องเข้าศูนย์บริการโนเกียเพื่อการตรวจเช็คโดยละเอียด

แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ