กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--เวเบอร์ แชนวิค
นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดสู่ยานยนต์และระบบความปลอดภัยในด้านการผลิต
นาซ่า เตรียมส่งหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ R2 หรือ Robonaut 2 ขึ้นปฏิบัติงานประจำในสถานีอวกาศนานาชาติภายในปีนี้ โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) และเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ภายใต้ข้อตกลงการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ทั้งในอวกาศและในศูนย์การผลิตยานยนต์ของจีเอ็มทั่วโลก
หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ R2 ซึ่งมีน้ำหนัก 300 ปอนด์ (136 กิโลกรัม) ประกอบด้วยส่วนหัว ลำตัว แขนและมือทั้งสองข้าง จะถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี่ ตามแผนปฏิบัติการ STS-133 ในเดือนกันยายนนี้ โดยเมื่อถึงสถานีอวกาศแล้ว เหล่านักวิศวกรจะตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์รุ่นนี้ในสภาพไร้น้ำหนัก หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ R2 จะปฏิบัติงานร่วมกับหุ่นยนต์ประจำสถานีอวกาศ “เด็กซ์เตอร์” หุ่นยนต์ที่มีแขนยาวเป็นพิเศษสำหรับการทำงานนอกสถานีอวกาศ ซึ่งถูกพัฒนาโดยองค์กรการบินอวกาศแห่งแคนาดา
เด็กซ์เตอร์ จะถูกติดตั้งอยู่ภายนอกสถานีอวกาศ ในขณะที่ R2 จะปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องแล็บเดสทินีบนสถานีอวการ โดยในอนาคต R2 จะถูกพัฒนาให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น และสามารถออกไปปฏิบัติภาระกิจนอกสถานีอวกาศได้อีกด้วย
“สำหรับการใช้งาน R2 ในสถานีอวกาศนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นที่สำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ในอวกาศ” จอห์น โอล์ซัน ผู้อำนวยการฝ่ายระบบสำรวจอวกาศแบบบูรณาการของนาซ่า กล่าว “สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสำรวจระบบสุริยะ และจะสามารถทำให้เราก้าวล้ำและประสบผลสำเร็จมากกว่าที่เราเคยคาดการณ์ไว้ในวันนี้”
หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ ไม่เพียงแต่จะมีรูปร่างหน้าตาภายนอกคล้ายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดอีกด้วย R2 มีแขนและมือคล้ายมนุษย์ โดยสามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่บนสถานีอวกาศเสมือนที่มนุษย์อวกาศใช้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์จะสามารถปฏิบัติภาระกิจนอกสถานีอวกาศได้ และยังสามารถเป็นได้ทั้งผู้ช่วยและตัวแทนนักบินอวกาศในกรณีที่ต้องปฏิบัติภาระกิจที่มีความยากลำบาก หรือ อันตรายสำหรับมนุษย์ ขณะนี้ R2 ยังเป็นเพียงหุ่นยนต์ต้นแบบที่ยังไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิเมื่อต้องปฏิบัติภาระกิจนอกสถานีอวกาศ
แต่การทดสอบหุ่นยนต์ R2 ภายในสถานีอวกาศดังกล่าวจะช่วยทำให้เราทราบถึงสภาวะแวดล้อมฉับพลันที่สำคัญหลายประการ โดยหุ่นยนต์จะถูกทดสอบในสภาวะปราศจากแรงโน้มถ่วงและต้องผ่านการทดสอบในสภาวะร่วมของการแผ่รังสีและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสถานีอวกาศ ซึ่งระบบปฏิบัติการภายในจะทำการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ในขณะที่ปฏิบัติงานร่วมกับนักบินอวกาศ และในขณะที่หน่วยปฏิบัติการภาคพื้นดินได้รับรายงานความคืบหน้าการทดสอบ คณะผู้ร่วมทดสอบ ณ สถานีอวกาศอาจจะได้รับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติม เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติภารกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
หุ่นยนต์ R2 กำลังถูกทดสอบอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมตัวขึ้นปฏิบัติภาระกิจจริงบนสถานีอวกาศ ด้วยการทดสอบโดยการสั่นสะเทือน ในสภาวะสุญญากาศ และการแผ่กัมมันตรังสี รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทีมงานของจีเอ็ม ที่มีแผนการที่จะนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ R2 นี้ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยในรถยนต์และในฐานการผลิตยานยนต์ในอนาคต
“ระดับการทดสอบหุ่นยนต์ R2 ที่เข้มข้นนี้ดำเนินการขึ้นเพื่อการเตรียมตัวก่อนขึ้นไปปฏิบัติการจริง ณ สถานีอวกาศ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับการทดสอบรถยนต์ทุกคัน และชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมดในสายการผลิตของ จีเอ็ม การทดสอบร่วมกันระหว่างทีมวิศวกรของจีเอ็มและนาซ่านี้ จะช่วยทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีความปลอดภัยต่อพนักงานของจีเอ็มในฐานการผลิตทั่วโลก” นายอลัน ท้อบ รองประธานกรรมการด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับโลกของจีเอ็ม กล่าว “การร่วมเป็นพันธมิตรกันระหว่างจีเอ็มและนาซ่าจะช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าการสำรวจอวกาศ การเดินทางด้วยรถยนต์ และการผลิตรถยนต์ในอนาคตจะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น”
ทีมงานวิศวกรการผลิตของจีเอ็มกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ R2 นี้ ทั้งในด้านการมองเห็น การเคลื่อนที่ และเทคโนโลยีระบบตรวจจับสัญญาณ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถช่วยเหลือมนุษย์ในการปฏิบัติภาระกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
“กลยุทธ์ของเรา คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกระบวนการผลิตรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งรวมไปถึงการสร้างระบบที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยเราเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ R2 จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่เราอีกด้วย” นายเคนเน็ต ดี ไนท์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์อำนวยการผลิตและประกอบรถยนต์ของจีเอ็ม กล่าว
เกี่ยวกับ เจนเนอรัล มอเตอร์ส
เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอมพานี หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2451 มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองดีทรอยท์ จีเอ็ม มีพนักงาน 217,000 คนใน 140 ประเทศทุกในภูมิภาคทั่วโลก จีเอ็ม มีฐานการผลิตรถยนต์ และรถปิกอัพอยู่ใน 34 ประเทศ และจำหน่ายรถแบรนด์ที่มีชื่อเสียง อย่าง บูอิค คาดิลแลค เชฟโรเลต เอฟเอดับเบิลยู จีเอ็มซี จีเอ็มแดวู โฮลเด้น โอเปิล วอกซ์ฮอลล์ และวูหลิง ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจีเอ็ม อยู่ในสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยจีน บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา และอิตาลี แผนกออนสตาร์ของจีเอ็ม นั่นถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมความปลอดภัย และการให้บริการข้อมูลในรถยนต์ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ดำเนินงานแทนเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจีเอ็ม ใหม่ คลิกเข้าชมได้ที่ www.gm.com
สำหรับข้อมูลหรือรูปภาพเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ปภาดา ตวงหิรัญวิมล หรือสถาปนา กาญจนประกร
เวเบอร์ แชนวิค
บริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 02 343 6057, 081 621 2404
อีเมล์: Paphada@webershandwick.com, Satapana@webershandwick.com
หรือ
ศศินันท์ ออลแมนด์
ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2791-3400 โทรสาร 0-2937-0171
อีเมล์: sasinan.allmand@gm.com