กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์
บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย ประสบความสำเร็จในการออกขายหุ้นกู้มูลค่า 3,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.91% ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับเอบวก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบัน
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร ชี้แจงถึงการออกหุ้นกู้ว่า “ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของบริษัทที่มีการออกขายหุ้นกู้ โดยบริษัทได้มอบหมายให้ ธนาคารเอชเอสบีซี เป็นผู้จัดการในการเสนอขายแก่นักลงทุนต่างๆ ซึ่งหุ้นกู้ของบริษัทได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนสถาบัน กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และบริษัทประกัน โดยปริมาณที่เสนอขายเดิมนั้นอยู่ที่ 2.5 ล้านหน่วย มูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท แต่ยอดจองซื้อกลับมีปริมาณกว่า 2 เท่าของปริมาณหุ้นที่เสนอขาย ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณหุ้นกู้ในการเสนอขายรวมเป็นมูลค่า 3,200 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.91% ต่อปี”
ทั้งนี้นายธีรพงศ์ ยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำหรับการออกหุ้นกู้อีกว่า “เพื่อนำเงินที่ได้ไปลดต้นทุนเงินกู้เดิม ซึ่งมีต้นทุนเงินกู้ที่สูงกว่า และผลจากการดำเนินการครั้งนี้จะทำให้บริษัทสามารถลดภาระต้นทุนในการกู้ได้อย่างน้อย 0.7% ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเป็นนโยบายหลักของดำเนินงานในปีนี้
สำหรับหุ้นกู้ที่ออกมานี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัททริส เรทติ้ง จำกัดให้อยู่ในระดับที่เอบวก และมีแนวโน้มคงที่ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง รวมทั้งความสามารถในการบริหารการจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และยังรวมไปถึงความสามารถในการรักษาโอกาสการแข่งขันทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศได้
จากผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะเห็นว่า บริษัทยังสามารถทำรายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 3% จาก 350.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 เป็น 361.6 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 527.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากกำไรสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ สาเหตุหลักมาจากการลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บริษัทมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้จาก D/E Ratio ที่ ลดลงจาก 0.66 ในไตรมาส 4 ของปี 2549 มาอยู่ที่ 0.61 ในไตรมาสแรกของปี 2550