TCELS บุกสหรัฐ ดึงนักลงทุนด้านชีววิทย์ฯไม่หวั่นอยู่กลุ่มประเทศถูกจับตา

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 10, 2007 13:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--TCELS
TCELS นำทีมพันธมิตรบุกสหรัฐ ขนนวตกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพไปอวดโฉมในเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา ไม่สนมะกันจัดอันดับไทยอยู่ในกลุ่มประเทศถูกจับตาพิเศษ เชื่อเป็นคนละส่วนกับการลงทุน โดยเฉพาะ CL เป็นเรื่องปลายทางที่เกี่ยวข้องกับการขาย “น.พ.ธงชัย” มั่นใจจะมีการพัฒนายาใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 10 ตัวที่ทั่วโลกจะขนเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา น.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) แถลงข่าวว่า ในระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2550 TCELS ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรประกอบไปด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร(Agricultural Research Development Agency :ARDA) ได้ร่วมออกบูธนิทรรศการในงานไบโอ อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเวนชั่น ( Bio International Convention ) จัดขึ้นณ นครบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานแสดงความก้าวหน้าด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมชมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุน กว่า 20,000 คน โดย TCELS ได้นำโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่โดยเน้นเรื่องการพัฒนายาใหม่เป็นหลักและมั่นใจว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
“ประเทศไทยเรามีจุดแข็งหลายประการที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในแถบยุโรปจะต้องพึ่งพาเรา อาทิเรามีนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูงทางด้านการวิจัยคลินิก มีกลุ่มโรคที่หลากหลาย มีกลุ่มประชากรที่หลากชาติพันธุ์ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี และพูดภาษาเดียวกัน มีระบบการพิจารณาจริยธรรมที่รวดเร็วเน้นปกป้องสิทธิของผู้ป่วยอย่างเข้มแข็ง มีเครื่องมือทันสมัยในการดำเนินการวิจัย” น.พ.ธงชัย กล่าว
น.พ.ธงชัย กล่าวยืนยันว่า แม้ขณะนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาจะจัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษนั้น ก็ไม่รู้สึกหนักใจหากต้องตอบคำถามกับนักลงทุน เพราะถือว่าประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมกับองค์การอนามัยโลก เชื่อว่าการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเรามีจุดแข็งหลายประการตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
“มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือ CL นั้นเป็นปัญหาปลายทางที่เกี่ยวข้องกับยาที่ผลิตขึ้นมาแล้วอยู่ในขั้นตอนของการขาย ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อการผลิตยาใหม่ จึงเชื่อว่าการลงทุนด้านนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันการทำวิจัยของกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะมีต้นทุนการผลิตยาใหม่ที่สูงนับหมื่นล้านเหรียญเนื่องจากติดปัญหาหลายประการ จึงเป็นโอกาสของเราที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดด้านนี้เนื่องจากเรามีต้นทุนที่ต่ำกว่า แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่สำคัญอย่างประเทศ อินเดีย สิงค์โปร์ จีน แต่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องโรคเขตร้อนมากกว่า ซึ่งเท่าที่ได้มีการวางเป้าหมายไว้ขณะนี้ จะมีการพัฒนายาใหม่อีก 10 ตัวที่กำลังจะเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” น.พ.ธงชัย กล่าว
น.พ.ธงชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ในรอบ 8 ปีมานี้ การทำวิจัยเพื่อการพัฒนายาใหม่เริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกจากปี 1999 มีเพียง 10% เพิ่มเป็นกว่า 20% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยด้วย มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้โชว์ศักยภาพ และสามารถปักธงให้นักลงทุนได้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีความก้าวหน้าหลายเรื่องโดยเฉพาะการศึกษาลักษณะหน่วยพันธุกรรมของคนไทย พบว่าโดยรวมมีความคล้ายคลึงกับพันธุกรรมของประชาชนจีนและญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 90 ข้อมูลนี้จะส่งผลดีต่อการวิจัยประสิทธิภาพยาใหม่ที่จะใช้กับคนเอเชียด้วย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรร้อยละ 60 ของโลก การรู้ลักษณะของพันธุกรรมจะทำให้ได้ยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด
สำหรับงานไบโอ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นงานแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ณ เมืองลารีจฮ์ (Raleigh) มลรัฐนอร์ธคาโรไลนามีผู้เข้าชมงานเพียง 1,400 คนเท่านั้น และนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีผู้เข้าร่วมชมงานสูงขึ้นตามลำดับขึ้นทุกปี กระทั่งเมื่อปี 2549 ซึ่งจัดขึ้นที่ มหานครชิคาโก มีผู้เข้าร่วมชมงานสูงถึงกว่า 20,000 คน และคาดว่าในปีนี้จะมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นายแพทย์ธงชัยกล่าว
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ