กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ปภ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยจัดตั้งคณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงเสริมสร้างและปลูกฝังค่านิยมด้านความปลอดภัยทางถนนแก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนเพิ่มโทษผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า ในระหว่างวันที่ 12 — 18 เมษายน 2553 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,516 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 361 คน ผู้บาดเจ็บ 3,802 คน แม้ในภาพรวมสถิติดังกล่าวจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยง พบว่า ยังคงเป็นสาเหตุเดิมๆ ทั้งรถจักรยานยนต์ การเมาแล้วขับ โดยผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน และอุบัติเหตุรายใหญ่มักเกิดกับผู้ขับขี่ที่หลับในและบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก รวมถึงการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า 2 คน โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนการบังคับใช้กฎหมายจราจร พบผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น และจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังคงเป็นจังหวัดเดิมๆ อีกทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่าร้อยละ 30 เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ดังนี้
1) จัดตั้งคณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์สูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุในเชิงลึก และกำหนดมาตรการป้องกันที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละจังหวัด
2) กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากรถกระบะที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายจำนวนมาก
3)เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สามารถบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การตรวจจับที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุน การบังคับใช้กฎหมาย โดยดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง
4)เสริมสร้างและปลูกฝังค่านิยมด้านความปลอดภัยทางถนนแก่เด็กและเยาวชน โดยอบรมให้ความรู้พื้นฐานด้านการขับขี่ การโดยสารรถ และการเดินถนนอย่างปลอดภัย
5) ทบทวนการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้เข้มงวดมากขึ้น เพิ่มโทษผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวมถึงห้ามมิให้มีการจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์
6) ส่งเสริมการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามขนบธรรมเนียมประเพณี
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการตามข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ