สวทช.-มทส.-มจธ. สานต่อความร่วมมือ iTAP เครือข่าย เดินหน้าเสริมแกร่ง SMEs ไทย

ข่าวทั่วไป Monday April 26, 2010 12:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) หน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. มีภารกิจสำคัญในการสร้างกลไกสนับสนุนและเชื่อมโยงความรู้หรือภาคทฤษฎีทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภาคปฏิบัติในระดับอุตสาหกรรม ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคแต่ละสาขาเข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาถึงในโรงงาน ตั้งอยู่ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ซึ่งถือเป็น iTAP ส่วนกลาง ที่ให้บริการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของ SMEs ไทยมากว่า 10 ปี เพื่อให้การขยายขอบเขตการให้บริการ SMEs ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศนั้น จึงได้มีการดำเนินงานผ่านทาง iTAP เครือข่ายภูมิภาค และเพื่อความต่อเนื่องในการสนับสนุน SMEs ไทย จึงได้มีการขยายเวลาความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นเวลา5 ปี คาดจะเกิดผลกระทบต่อ SMEs ในการพัฒนาเทคโนโลยี ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. ให้ความสำคัญมากกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากองค์ความรู้ไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงในสังคมและธุรกิจ และสวทช.ใช้การบริหารจัดการเทคโนโลยี เป็นรากฐานสู่การพัฒนาภาคเอกชน โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรจากทุกภาคส่วน และนี่เป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จสูงในตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง สวทช. มีนโยบาย Cluster ในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้เห็น Impact ได้ผลรวดเร็วและมีประโยชน์ตรงต่อความต้องการของประเทศ โดยมี 8 คลัสเตอร์หลักได้แก่ อาหารและเกษตร, การแพทย์และสาธารณสุข, ยานยนต์และการจราจร, สิ่งทอ, ซอฟต์แวร์, ไมโครชิพและอิเล็กทรอนิกส์, พลังงานทดแทน, สิ่งแวดล้อม, ชุมชนและผู้ด้อยโอกาส” รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวถึง โครงการ iTAP ว่า iTAP จะเป็นกลไกขับเคลื่อนและเร่งให้ cluster เหล่านี้ไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดยเน้นจากนำโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนมาเป็นจุดตั้งต้น และการผสานความร่วมมือพัฒนาเป็นเครือข่ายความรู้และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศและจากทั่วโลก สร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้แก่อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยไทยให้ทำงานอย่างมืออาชีพในการพัฒนาเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชน “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาได้บังเกิดผลลัพธ์แล้ว ซึ่งกลไก iTAP ได้เริ่มขับเคลื่อนวงจรนี้ให้หมุนไปและขยายไปทั่วประเทศเพิ่มขึ้นก้าวไป พร้อมกับการเพิ่มคุณค่าต่อระบบการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการพัฒนา เกิดประโยชน์ต่ออาจารย์และนักวิจัยที่จะไปสัมผัสความเป็นจริงในภาคเอกชน ซึ่งจะเจอทั้งสิ่งท้าทาย แรงกดดัน ปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดการด้านคน การเงิน การตลาด คู่แข่ง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เป็นการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยให้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้แก่เอกชน และนำความรู้ของเอกชนมาต่อยอดให้กับตนเองและถ่ายทอดต่อไปยังนักศึกษา ด้วยกลไกนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว ด้าน ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวถึงที่มาของโครงการ iTAP ว่า “โครงการ iTAP เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2543 โดยเริ่มมีเครือข่ายครั้งแรกปี 2545 คือ สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ สวทช. เอง ต่อมาจึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดตั้งเครือข่าย iTAP แห่งที่ 2 จากนั้นปลายปี 2547 จึงมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดตั้งเครือข่าย iTAP แห่งที่ 3 และต้นปี 2548 ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งเครือข่าย iTAP แห่งที่ 4 จนกระทั่งปัจจุบันมีเครือข่าย iTAP ทั้งสิ้น 9 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีบุคลากร iTAP ทั้งใน สวทช. และเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน 95 คน โดยเป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยี หรือเรียกว่า Industrial Technology Advisor หรือ ITA จำนวน 52 คน” แก่นการทำงานของ iTAP มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ แก่นที่หนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด คือ การมุ่งเน้นที่ลูกค้า (Client focus) คือภาคเอกชน การทำงานของ iTAP ต้องมีโจทย์ความต้องการจากเอกชนเท่านั้น แล้ว iTAP จึงให้บริการที่เรียกว่า “บริหารจัดการเทคโนโลยี” ทำหน้าที่เป็น “ผู้ไขปัญหาทางเทคโนโลยี” ให้แก่เอกชน ซึ่งนำมาสู่แก่นที่สองคือ การให้บริการอย่างเป็นเลิศ (Excellence in Delivery) โดย iTAP มีการทำงานอย่างเป็นระบบและมีการพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และแก่นที่สาม ได้แก่ เครือข่าย (Networking) ทั้งเครือข่ายการให้บริการของ iTAP เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนภาคเอกชน และสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกับแบบ PPP (Public Private Partnership) หรือ รัฐร่วมเอกชน ซึ่งเป็นที่มาของความสำเร็จที่เกิดขึ้น iTAP ก่อให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาในภาคเอกชนแล้วไม่น้อยกว่า 382 ล้านบาท สัมฤทธิ์ผลในเชิงเศรษฐกิจ อาทิ มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่าร้อยรายการ สร้างเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ พัฒนากระบวนการผลิต มีการยกระดับคุณภาพมาตรฐานในโรงงานกว่า 200 โรงงาน สนับสนุนให้มีการใช้ IT ในอุตสาหกรรม รวมทั้งช่วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบัน iTAP มีการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของเอกชน 3,687ราย จัดทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชน 2,377 โครงการ ซึ่งก้าวหน้ารวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปีแรกปีละ 5-6 โครงการ เป็น 10-20 โครงการ มาสู่ปีละนับร้อยโครงการโดยปีที่ผ่านมามี 455 โครงการ ในขณะที่ปีนี้ยิ่งสวนกระแสเศรษฐกิจ ทำโครงการไปแล้วกว่า 400 โครงการ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวถึงประเด็นความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง สวทช. กับ มทส. และ มจธ. ที่ผ่านมา ว่า “ในส่วนของเครือข่าย iTAP ม.เทคโนโลยีสุรนารี มีการให้บริการภาคเอกชนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เกิดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนจำนวน 86 โครงการ โดยมีเอกชนที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุดอยู่ใน จ.นครราชสีมา (43 โครงการ คิดเป็นร้อยละ50) ก่อให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาของเอกชน 13 ล้านบาท” “ในส่วนของเครือข่าย iTAP ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีการให้บริการภาคเอกชนในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม เกิดโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนจำนวน 82 โครงการ โดยมีเอกชนที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุดอยู่ใน 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ สมุทรปราการ และสมุทรสาคร (55 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 67) ก่อให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาของเอกชน 44 ล้านบาท” ในปีที่ผ่านมา iTAP ได้จัดทำโครงการ “iTAP Big Impact” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขยายผลงานให้มีผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยคัดเลือกโครงการที่ประสบความสำเร็จมาขยายผลไปสู่โรงงานอื่น โดยเน้นการทำได้ง่าย เห็นผลเร็ว มีผลกระทบสูง ซึ่ง 3 กลุ่มที่เลือกได้แก่ โรงสีข้าว โรงเลี้ยงไก่ และโรงอบยางแผ่น สำหรับ มทส. มีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดทำโครงการ iTAP Big Impact ของโรงสีข้าว ในขณะที่ มจธ. มีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดทำโครงการ iTAP Big Impact ของโรงเลี้ยงไก่” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวเสริม ทั้งนี้ การลงนามบันทึกตกลงขยายระยะเวลาความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ มทส. และ มจธ. จะมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2553 — 2558) เพื่อการดำเนินงานในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP เครือข่าย หลังจากที่มีการลงนามไปแล้วครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โครงการ iTAP สวทช. ได้มีการให้บริการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือ SMEsอย่างเต็มที่และต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรภาคการศึกษาต่าง ๆ ในการจัดตั้ง iTAP เครือข่ายภูมิภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของไทย และจะกระตุ้นให้ภาคเอกชน SMEs ไทยเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนยกระดับเทคโนโลยีเป็นการสร้างขีดความสามารถให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน และก้าวไกลสู่สากลได้มากยิ่งขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) คุณวีระวุฒิ (ไต๋) โทร. 081-614-4465 / คุณชนานันท์ คงธนาฤทธิ์ โทร.081-639-6122 โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1476-8 sหรือ pr@tmc.nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ