กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สวทช.
“หลากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ภัยธรรมชาติกับชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน”
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 5 ขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บรรยากาศภายในงานคึกคักไปด้วยกลุ่มเยาวชนและผู้สนใจที่เข้ามาชมผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนิสิต นักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมสนุกไปกับกิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่ห้องจัดแสดงนิทรรศการ ฯลฯ
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจไม่น้อยนั่นก็คือการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “หลากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ภัยธรรมชาติกับชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน” ที่ได้รับเกียรติจากคณะนักวิชาการที่ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ สมศักดิ์ ปัญหา นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์ และชีววิทยา ประธานสมาคมหอยนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รศ.ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว นักธรณีวิทยาที่ค้นพบสึนามิโบราณในประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นและชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งเกิดขึ้นภายใต้กลไกทางธรรมชาติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมี ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านไบโอเทศ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สมศักดิ์ ปัญหา นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประธานสมาคมหอยนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์” คือตัวการสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
“โลกเรามีอายุมานานกว่า 4,600 ล้านปี มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรจนก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ หากจะว่าไปสิ่งมีชีวิตในโลกถือเป็นการทดลองทางธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดำเนินไปและจะหยุดก็ต่อเมื่อมีการสูญพันธุ์ จากการศึกษาวิจัยในบริเวณเขาหินปูนทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตได้ชัดเจนในหลายระดับ เช่น การศึกษาหอยทากจิ๋ว พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปมากมาย มีความสวยงามที่ต้องอาศัยเวลานับล้านปี แม้กระทั่งการศึกษาไส้เดือนที่เขาหินปูนก็พบว่าการผุกร่อนของเขาหินปูนเกิดขึ้นจากกรดคาร์บอนิกที่อยู่ในไส้เดือน ที่ต้องอาศัยเวลานานนับล้านปี แต่มนุษย์ทำการถล่มเขาหินปูนนั้นได้ในระยะเวลาเพียงชั่วขณะ ด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น“
ภาวะของโลกที่เปลี่ยนไปยังนำไปสู่ภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ เหตุการณ์ “สึนามิ” ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศไทยเมื่อปี 2547 หรือการเกิดแผ่นดินไหว ในพื้นที่ประเทศต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลและมีประโยชน์ต่อการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่ง ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว นักธรณีวิทยาที่ค้นพบสึนามิโบราณในประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า
“เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งในการทำวิจัยเรื่องสึนามิโบราณ เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าเคยเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียมาแล้วหลายครั้งในอดีต ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้เริ่มศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสึนามิ ตรงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล เพื่อหาหลักฐานตะกอนที่ถูกพามาสะสมโดยสึนามิ
จากการลงพื้นที่ก็ได้พบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ยืนยันได้ว่า ในอดีตประเทศไทยเคยเกิดสึนามิขึ้นมาแล้ว และเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 600-700 ปีที่แล้ว โดยพบหลักฐานอยู่บริเวณเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่เป็นตะกอนทราย 3 ชั้น แทรกอยู่ระหว่างชั้นดินสีดำ ซึ่งทั้งหมดถูกปิดทับด้วยชั้นตะกอนสึนามิ เมื่อปี 2547 และมีความหนาอยู่ที่ 5-20 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อเราสามารถหาหลักฐานได้ว่าประเทศไทยเคยเกิดภัยพิบัติสึนามิมาแล้วในอดีต ก็จะมีส่วนช่วยในการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ เพื่อที่ชาวบ้านหรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง จะได้เตรียมรับมือกับมหันตภัยดังกล่าว ตลอดจนลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
ทางด้าน รศ.ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ก็ได้กล่าวถึง ประเทศไทยกับภัยพิบัติที่เกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า
"แผ่นดินไหวเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก เกิดจากธรรมชาติ ประเทศไทยมีรอยแตกรอยร้าวที่เรียกว่ารอยเลื่อนขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวถึง 7.8 ริกเตอร์ ใหญ่ที่สุดที่จะเกิดได้ ก็ 6 ริกเตอร์ปลายๆ ถึง 7 ริกเตอร์ ต้นๆ พื้นที่เสี่ยงหลักๆ จะอยู่ในภาคเหนือที่มีรอยเลื่อน รอยแตก รอยร้าวเล็กๆ ฝังอยู่ใต้ดิน อยู่ในแผ่นเปลือกที่ไม่ปรากฏร่องรอยกระจายไปทั่ว ส่วนในแถบจังหวัดกาญจนบุรี รอยเลื่อนที่นี่ค่อนข้างต่อเนื่องและยาว โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจะใหญ่กว่า ระหว่าง 7.3-7.5 ริกเตอร์
ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ แม้จะเกิดแผ่นดินไหวห่างไกล แต่ก็มีผลเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ ดินอ่อน กับตึกสูง ซึ่งดินอ่อนจะขยายความสั่นสะเทือนแรงกว่าดินปกติ 3 เท่า แผ่นดินไหวที่ดูเหมือนจะอ่อนแรงไปแล้ว เมื่อกระจายออกมาไกลๆ เจอดินอ่อนคลื่นจะแรงขึ้นมาใหม่ ผนวกกับจังหวะการโยกของตึกสูง ถ้าคลื่นเสริมกัน ตึกสูงก็สั่นมาก และจากผลการทดลองการเกิดแผ่นดินไหวโดยการจำลองโมเดล พบว่าในกรณีที่มีการสั่นคลอนของตัวตึกน้อยจะทำให้เกิดความเสียหายกับตัวคาน แต่หากสั่นคลอนมากจะเกิดความเสียหายที่ช่วงรอยต่อของตึก ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการออกแบบอาคารเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้ถูกจุดและประหยัดต้นทุนการก่อสร้าง สำหรับอาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่ในแอ่งดินอ่อน ก็ต้องออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมอาคารมีแล้ว แต่ต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง “
“การสูญเสียชีวิต” จากกรณีการเกิดภัยพิบัติอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เหตุการณ์ “สึนามิ” ครั้งที่ผ่านมา คนไทยได้รู้จักอีกหนึ่งวิวัฒนาการของการตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า “การตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ในส่วนนี้ รศ.ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า
”ในเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นปลายปี พ.ศ.2547 การพิสูจน์ร่างผู้เสียชีวิตจากลักษณะของศพที่พบ เมื่อซากศพเริ่มเน่าเปื่อย จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอื่นๆ เข้าช่วย เช่น ข้อมูลฟัน และหลักฐานลักษณะภายนอกอื่นๆ และ วิธีการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชนำมาใช้ ความยากง่ายในการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเออยู่ที่ช่วงเวลาเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของศพ และการเก็บรักษา ซึ่งหากศพอยู่ในสภาพที่เสื่อมสลายไปมาก การตรวจจะยากมากขึ้น ซึ่งในขั้นตอนของการตรวจดีเอ็นเอนั้น สามารถทำได้สามวิธี คือ การพิสูจน์เอกลักษณ์ การพิสูจน์ดีเอ็นเอของโครโมโซม การตรวจนิวเคลียร์ดีเอ็นเอ ลักษณะที่น่าสนใจ เมื่อตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอแล้ว จึงนำไปเปรียบเทียบกับพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต”
ถึงนาทีนี้ ไม่มีใครรู้ได้ว่าอนาคตของโลกใบนี้จะเป็นอย่างไร...แต่สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำได้คือการใส่ใจและหยุดทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและเพื่อการดำรงอยู่ของ ทุกสิ่งมีชีวิตใน “ดวงดาวสีน้ำเงิน” หรือโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด