กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--พีอาร์ 360 องศา
คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เชิญคลายร้อนผ่อนคลายต่อเนื่องจาก “แตรฝรั่ง ย่ำไทย 12 ภาษา” ปลายเดือนเมษายน รับความหรรษาต้นเดือนพฤษภาคมกับ “ออกตัวรำ 12 ภาษา” สัมผัสภูมิปัญญาของนาฏศิลป์ไทย อาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคมนี้ คมสันต์ สุทนต์ เล่าความเป็นมาให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
***“ออกตัว(รำ)12 ภาษานั้นผมคิดว่า.. มีความเป็นมาที่หลากหลายผสานศิลปะการแสดงหลายหลากเข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ลิเก-ออกแขก สวดคฤหัสถ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์นางหงส์ และจำอวด
เพราะเริ่มเดิมทีออกตัว 12 ภาษานั้นในส่วนของลิเกทรงเครื่องก็มีการออกตัว12 ภาษาจริงๆ ก่อนการแสดงเริ่มต้นขึ้นต่อมาจึงย่อเหลือเพียงออกตัวภาษาเดียว คือภาษาแขก เราเรียกกันว่า “ออกแขก”
ส่วนการละเล่น สวดคฤหัสถ์ ที่สมัยก่อนนิยมเล่นในงานศพ เดิมทีเป็นของพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์แล้วออกลำนำเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งมีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ห้ามไม่ให้พระสงฆ์สวดออกลำนำรูปแบบนี้ ห้ามพระแต่ไม่ได้ห้ามคนธรรมดา..ต่อมาเลยแพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน และเริ่มพัฒนามีการแต่งตัวเลียนแบบตามภาษาที่ใช้สวด เริ่มจากร้องเป็นสำเนียงจีน แล้วต่อด้วยกราว(นอก) ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เป็นต้น ไม่มีการวางลำดับตายตัวอะไรครับ
ต่อมาครูบาอาจารย์นักดนตรีไทยที่บรรเลงปี่พาทย์นางหงส์ และปี่พาทย์มอญประโคมงานศพ จึงคิดร้อยเรียงเพลงภาษาต่างๆ มาเข้าไว้ด้วยกัน ครั้นบรรเลงร้องอย่างเดียวก็ไม่สนุกสนาน เลยมีร่ายรำหลากชาติหลายภาษาในลักษณะตลกโปกฮา หรือที่เรียกว่า จำอวด ขึ้นมาประกอบด้วย ช่วยสร้างความสนุกคลายความทุกข์โศกได้เป็นอย่างดีครับ
หากจำกันได้ที่รายการไทยโชว์เคยนำเสนอ ลิเกป่า หรือลิเกแขกแดงของจังหวัดกระบี่ การแสดงเขาก็แบ่งเป็น 12 ภาษา แต่คำว่าภาษาหมายถึง ลำ หรือช่วงย่อย 12 ลำ ใกล้เคียงกับ มอญรำ(ปัวฮะเปิ่น) ของพี่น้องชาวไทยรามัญ ที่เรียกกระบวนรำ 12 ท่า/เพลง ว่า 12 ภาษา ซึ่งตอกย้ำว่าศิลปะการแสดงอะไรก็แล้วแต่ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ ความศักดิ์สิทธิ์ บ่งบอกถึงความแตกฉานแห่งภูมิปัญญามักจะเรียกว่า 12 ภาษา ครับ”***
คมสันต์ สุทนต์ สรุปปิดท้ายอย่างกระชับว่า
“กว่าจะมาเป็นการแสดงที่เรียกว่า ออกตัวรำ 12 ภาษา ที่ได้เห็นในรายการไทยโชว์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ และที่สำคัญนับวันจะหาชมได้ยากแล้วครับ เพราะเรา..ไม่อยากให้หายไป ชมรายการไทยโชว์ ตอน ออกตัวรำ 12 ภาษา วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2553 เวลา 18.00 น. ดูรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow
***เป็นบทความที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะนักวิชาการวัฒนธรรม โปรดอ้างอิงชื่อและนามสกุลผู้เขียน “คมสันต์ สุทนต์” ทุกครั้ง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและมุมมองที่แตกต่างจากผู้อ่าน