กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
สศอ.เผยภาคอุตฯ เดินเครื่องผลิตคึก สิ้น Q1 ดัชนีอุตฯ พุ่ง 31% กำลังการผลิต 62.9% กลุ่มยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอฯ ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะตลาดส่งออก ชี้ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองยังเป็นตัวแปรที่ต้องติดตาม
ดร.สมชาย หาญหิรัญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ไตรมาสที่1 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31% เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 62.9% ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องไทยนับตั้งแต่ ไตรมาตรที่ 4 ปี 2552 ที่ขยายตัว11.5%(MPI ปี 2552 Q1(-22.0%), Q2(-10.7%), Q3(-5.5%) และQ4 เริ่มขยายตัว11.5%) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ Hard disk drive สิ่งทอฯ เป็นปัจจัยหนุนให้ MPI ขยายตัว นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเกือบ 30% โดยสินค้าสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัวการส่งออกสูงมากกว่า 70% และ 40% ตามลำดับ
ขณะที่ MPI เดือนมีนาคม 2553 ขยายตัว 32.57% กลับมาเป็นบวก 5 เดือนติดต่อกัน (พ.ย-มี.ค. 2552 เพิ่มขึ้น 7.5%, 30.7%, 29.1%, 31.1% ตามลำดับ) โดยอัตรากการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.9% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือนเป็นไปตามทิศการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อได้จากทั่วโลกและสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันต่อเวลา จึงเป็นที่มั่นใจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตามยังต้องประเมินสถาณการณ์ภายในอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากผลของความขัดแย้งขยายวงกว้างกินเวลายาวนานอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของ MPI ได้
ดร.สมชาย กล่าวว่า การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวถึง 86.6% โดยมียอดการผลิต 371,269 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากค่ายรถยนต์แต่ละค่ายมีการกระตุ้นยอดด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้าและมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1,440,000 คันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีสัดส่วนจำหน่ายในประเทศ 600,000 คัน และส่งออก 800,000 คัน
ขณะที่ ภาวะการผลิตและจำหน่ายในเดือนมีนาคม เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 105.8%และ 87.9% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว
กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวได้ถึง 55.8% ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้จากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้า IT อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าทั้งปี จะสามารถขยายตัวได้ถึง 31.5% โดยสินค้าหลักในกลุ่มที่เป็นตัวนำยังคงเป็น Hard disk drive
การผลิต Hard disk drive การผลิตและจำหน่ายในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 52.9% และ 49.9% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จึงมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกให้ความเชื่อมั่น
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.6% เป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการขยายตัวของตลาดส่งออกในกลุ่มอาเซียนด้วยกันจึงทำให้มียอดการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปีจะสามารถขยายตัวได้ 4.4% โดยเฉพาะผ้าผืน ซึ่งไทยเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนจึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างมาก เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าเครื่องนุ่งห่มต่อไป ขณะที่เครื่องนุ่งห่มหลังจากที่ติดลบอย่างต่อเนื่องนับจากวิกฤตเศรษบกิจโลกได้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวกลับเข้ามา โดยมียอดการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกันคือ ก.พ.เพิ่มขึ้น 10.6%และมี.ค.เพิ่มขึ้น 12.1%
การผลิตสิ่งทอต้นน้ำ การผลิตและจำหน่ายเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.8%และ 7.7% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เขมร ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV)
นอกจากนี้ ดร.สมชาย ยังได้สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนมีนาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 211.73 เพิ่มขึ้น 32.6% จากระดับ 159.71 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 212.29 เพิ่มขึ้น 35.2% จากระดับ 156.99 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 128.34 เพิ่มขึ้น 14.8% จากระดับ 111.77 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 151.77 เพิ่มขึ้น 15.3% จากระดับ 131.69 ขณะที่ ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 184.06 ลดลง 7.6% จากระดับ 199.08 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.9%