กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--การบินไทย
วันนี้ ( 27 เมษายน 2553) ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) ได้จัดให้มีพิธีเจิมเครื่องบินขนส่งสินค้า รุ่นโบอิ้ง 777 — 200 LRF จำนวน 2 ลำ โดยมี พระเทพภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานในพิธีเจิม และมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ร่วมในพิธี ณ บริเวณลานจอด หน้าอาคารคลังสินค้า การบินไทย สุวรรณภูมิ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยว่า ฝ่ายการพาณิชย์ สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทยฯ เริ่มให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วย เครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) รุ่น โบอิ้ง 777-200 LRF จำนวน 2 ลำ ในเส้นทาง ไป — กลับ กรุงเทพฯ - แฟรงก์เฟิร์ต สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน และ เส้นทาง กรุงเทพฯ — ฮ่องกง — อัมสเตอร์ดัม - กรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน ทั้งนี้การนำเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 LRFมาให้บริการนี้ เป็นการทำสัญญา Block Space (BSA) ทั้งลำระหว่างการบินไทย กับสายการบิน เซาท์เทิร์น แอร์ (SAI) โดยการบินไทยเป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้บริการด้วย โบอิ้ง 777-200 LRF ใช้เครื่องยนต์แบบ GE90-110B1 ซึ่งเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องเสียง จึงสามารถให้บริการไปยังสนามบินต่างๆ โดยไม่ติดข้อจำกัดเกี่ยวกับมลพิษทางเสียงได้ทุกแห่งสามารถบรรทุกสินค้าได้ถึง 102 เมตริกตัน ต่อเที่ยว ระวางบรรทุกสามารถรองรับแผ่นบรรทุกสินค้ามาตรฐานได้ถึง 37 แผ่น และมีพื้นที่ เก็บสินค้าที่ไม่ได้บรรทุกบนแผ่น/ตู้ (Bulk Cargo) อีก 17 ลูกบาศก์เมตร ประตูรับสินค้า บนชั้นบรรทุกหลักมีขนาดใหญ่ สามารถรองรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่พิเศษได้ ทั้งยังเหมาะสำหรับการรับขนส่งสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น การขนส่งสัตว์มีชีวิต และสินค้าประเภทวัตถุอันตรายได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าสดประเภท ผักผลไม้ ดอกไม้ และสินค้าประเภท IT เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ฮาร์ตดิสก์
เครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 777-200 LRF นี้ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลก ในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปสู่ยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มพื้นที่ระวางในการ ให้บริการแก่ลูกค้าของไทยคาร์โก้ ได้มากขึ้น นอกเหนือจากพื้นที่ในการขนส่งสินค้า ใต้ท้องเครื่องบินผู้โดยสาร ทำให้ลูกค้าของไทยคาร์โก้ มีช่องทางในการขนส่งได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น
ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ คาดว่าการให้บริการด้วย เครื่องบินโบอิ้ง 777-200LRF 2 ลำดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ของปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 24,120 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 31% และมีอัตราการบรรทุก (Freight Load Factor) 53.6% โดยผลประกอบการจากการใช้เครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 777-200 LRF 2 ลำนี้จะเป็นแนวทางในการวางแผนจัดหาเครื่องบินขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ระวางด้วยการทำ BSA ต่อไปในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการขนส่งของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งมอบบริการที่ดีสุดให้แก่ลูกค้า ตามพันธสัญญาของ THAI Cargo “ Always deliver the best ”
นอกจากนี้ ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ยังเปิดให้บริการ Cold Storage Service อย่างเป็นทางการ เพื่อให้บริการพิเศษ ดูแลสินค้าที่ต้องการการควบคุมความเย็นตลอดทั้งกระบวนการขนส่ง (Cool Chain) ซึ่ง Cold Storage นี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สินค้าสด ผักและผลไม้ (Perishable Center) ภายในอาคารขนถ่ายสินค้า การบินไทย เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดเป็นห้องควบคุมอุณหภูมิ พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร ภายในมีห้องเย็นขนาดใหญ่ 3 ห้อง ที่ปรับเปลี่ยนอุณหภูมิตามประเภทและชนิดของสินค้า ระหว่าง 2 ถึง 15 องศา เพื่อให้บริการจัดเตรียมและขนส่งสินค้าที่เป็นพืชผลทางการเกษตรต่างๆ โดยใช้การบริหารจัดการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการรักษาความเย็นของสินค้า ให้คงที่ตลอดกระบวนการการขนส่งจนถึงปลายทาง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี คงความสดและมีคุณภาพสูงสุด มีอายุการวางจำหน่ายในร้านค้าที่ปลายทางยาวนานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายจากความเสียหายของสินค้าอันอาจเกิดจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าสดของไทยสู่ผู้บริโภคทั่วโลกได้มากขึ้น ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม ซึ่งทั้งหมด เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกโดยรวมอีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และตรวจสอบตารางเวลาทำการบินได้ที่ thaicargobsachartersale@thaiairways.com
Theerasin Saengrungsri
Manager,Domestic Public Relations Department
Corporate Communications
Thai Airways International Public Company Limited
89 Vibhavadi Rangsit Road, Bangkok 10900, Thailand
Tel.66 (0) 2545-2653 Fax : 66 (0) 2545-3891