iTAP ร่วมภาคี หนุน “บรรจุภัณฑ์สีเขียว” ศักยภาพใหม่ของอุตสาหกรรมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 27, 2010 12:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สวทช. โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) iTAP ร่วมภาคี ผุด “โครงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เสริมศักยภาพหลากหลาย เช่น ด้านการออกแบบเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม , การเรียนรู้ด้านวัสดุ Green Material , การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ คาดโปรเจคนี้จะกลายเป็นแผนที่นำทาง เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หวังเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยก้าวทันกลไกตลาดโลก ปัจจุบันมีของเสียจากบรรจุภัณฑ์ถึง 1 ใน 3 ของของเสียจากครัวเรือนโดยเฉลี่ย และมีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของของเสียทุกชนิดในขยะมูลฝอย อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ กลับถูกออกแบบให้กำจัดทิ้งหลังการใช้เพียงครั้งเดียว ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว สำหรับภาคอุตสาหกรรม ปัญหาของของเสียจากบรรจุภัณฑ์ยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดสากลที่กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ความพยายามในการทำงานเพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถสร้างบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม จึงเกิดขึ้นใน โครงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (XCEP) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในการสร้างความตระหนักด้านการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดภาวะโลกร้อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตเตรียมตั้งรับกับความต้องการและข้อกำหนดจากลูกค้าหรือผู้บริโภคผ่านการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของโครงการโดยนำทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆเข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงาน เช่น Workshop ด้านการออกแบบซึ่งเป็นกลยุทธ์การออกแบบเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ ECO Design , การเรียนรู้ด้านวัสดุ Green Material ,การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green Production และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อทำบรรจุภัณฑ์ต้นแบบที่เป็นมิตรต่อแวดล้อม โดยคาดหวังว่าการร่วมงานในครั้งนี้ซึ่งมีทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน จะได้กลายเป็นแผนที่นำทางหรือ Road Map for Eco Packaging เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่ผ่านมา iTAP ช่วยเหลือภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่กระแสในปัจจุบันการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น iTAP จึงพยายามผลักดันการทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ผ่านโครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อให้นักอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมทั้งในกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ การเลือกใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงานและเลือกใช้พลังงานที่สะอาด เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โครงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เปิดตัวในครั้งนี้จึงเป็นความตั้งใจที่ดีต่อโลก อีกทั้งยังสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในตลาด และคาดหวังให้ไทยกลายเป็นผู้นำ Eco Product ต่อไป ด้าน ดร.กิตินันท์ อันนานนท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ XCEP กล่าวด้วยว่า ปัญหาสภาวะโลกร้อนจริงๆแล้ว สิ่งที่แก้ได้ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่วนนี้ต้องค่อยๆทำกันไป แต่ปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ การกีดกันที่ไม่ใช่การค้าซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบต่อการทำงาน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ โครงการนี้จึงเริ่มต้นการทำงานในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขัน “ หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้า และอีกไม่เกิน 5 ปีสินค้าจะส่งออกต่างประเทศไม่ได้ หากไม่ผ่านกฎระเบียบหรือมีปริมาณบางอย่างที่เขาจำกัดไว้ ดังนั้นจะออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างไรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมต้องตามให้ทันกระแสเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบและมาตรฐานที่สำคัญเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ในตลาดยุโรป กฎหมายบรรจุภัณฑ์ของญี่ปุ่น หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ” ดร.กิตตินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอุตสาหกรรมต้นแบบที่จะเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวเบื้องต้นมองไว้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษ อลูมิเนียม โลหะและพลาสติก ฯลฯ โดยมีบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 7 บริษัทซึ่งเบื้องต้นจะมีการอบรม การศึกษาดูงาน มองถึงการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ การเลือกประโยชน์ใช้สอย การขนส่ง และที่สำคัญคือ แนวทางการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการทำงานกลุ่มย่อยโดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนนี้จะมาจากโจทย์ปัญหากลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไข เช่น การขอฉลากสิ่งแวดล้อม หากต้องการส่งออกไปสหภาพยุโรปต้องผ่านมาตรฐานใดบ้าง เป็นต้น สำหรับความคาดหวังการทำงานครั้งนี้ ดร.กิตินันท์ มองว่า ต้องการให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งขณะนี้อาจแข่งขันด้านราคา แรงงาน หรือฐานการผลิตไม่ได้ แต่หากมองในตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่นด้านสิ่งแวดล้อม สินค้าสุขภาพ ซึ่งยังเป็นตลาดใหญ่ยังสามารถเป็นไปได้ ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้เท่าทันและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างไม่หยุดนิ่งต่อไป ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใดสนใจเข้าร่วม โครงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ตั้งแต่บัดนี้ — 15 พฤษภาคม 2553 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-564-7000 ต่อ 1300

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ