กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กล่าวเปิดงานการประชุมวิชาการ The 1st National Research Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Advanced Materialsand The 16th PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers ของศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติ ด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุชั้นสูง และ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณพีระศักดิ์ จันทร์ประทีป กรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุขั้นสูง และ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาตินี้ เป็นโครงการพิเศษโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อผลิตและพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการของประเทศ ทั้งด้านภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นผมจึงขอแสดงความยินดีกับนิสิตทุกท่านที่ได้แสดงผลงานในวันนี้ที่ได้ประสบความสำเร็จในการทำงานวิจัยซึ่งได้ทำต่อเนื่องมา ซึ่งผลจากการทำงานหนักแสดงให้เห็นความสำเร็จซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนี้
งานประชุมวิชาการนี้เป็นความร่วมมือจาก ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุขั้นสูง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และวิทยาลัยปิโตรเลียมและ ปิโตรเคมี ภายใต้หัวข้อ The 1st National Research Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Advanced Materials and The 16th PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers โดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุขั้นสูง ประกอบด้วยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมีซึ่งเป็นหน่วยงานหลักและ 8 หน่วยวิจัยจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และจากผลการดำเนินงานจากหน่วยวิจัยต่างๆจึงทำให้จำนวนผลงานวิชาการที่เข้าร่วมในการประชุมวิชาการสูงถึง 161 ผลงาน โดยเป็นการแสดงผลงานแบบปากเปล่า 29 ผลงาน และการแสดงผลงานแบบโปสเตอร์ 132 ผลงาน พร้อมกันนี้ได้มีการบรรยายพิเศษจาก ดร.ไพลิน ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) นาวาเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และ Prof.Hiroshi Tamura จากมหาวิทยาลัยคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ภายในงานยังมีการแสดงผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจของนิสิตจากวิทยาลัยฯ และสถาบันร่วมของศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และวัสดุขั้นสูง และสามารถที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาและดุษฏีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมี และวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรทางด้านนี้ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีการพัฒนาผลงานการวิจัยที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นจำนวนมากอีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดใช้ในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022184154 สุพิน ไชยพันธ์