“เนื้อร้องแบบไหนโดนใจผู้ฟัง”

ข่าวทั่วไป Wednesday April 28, 2010 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ภายหลังจากเปิดนิทรรศการ “จับไมค์ ใส่ขนนก” นิทรรศการชั่วคราวที่นำเสนอแง่มุมอันหลากหลายของเพลงลูกทุ่ง ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เนื้อร้องแบบไหนโดนใจผู้ฟัง” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวมนต์เสน่ห์ แรงบันดาลใจ และวิธีการแต่งคำร้องเพลงลูกทุ่ง ผ่านครูเพลงและนักแต่งเพลงไทยสากลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงลูกทุ่งมาร่วมเป็นวิทยากร คุณวสุ ห้าวหาญ โปรดิวเซอร์ดูแลการผลิตและสร้างสรรค์เพลง สังกัดแกรมมี่โกลด์ ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มา “เพลงลูกทุ่ง — ร้อยเนื้อร้องทำนองเดียว” ว่า ในอดีตเพลงลูกทุ่งมีที่มาจากทำนองเพลงพื้นบ้านหรือทำนองเพลงไทยเดิมซึ่งเป็นยุคที่มีทำนองเพลงไม่มาก นักแต่งเพลงจึงดัดแปลงเนื้อร้อง เติมแต่งด้วยดนตรีสากลเข้าไป ทำให้เกิดทำนองเพลงที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันนักแต่งเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่มาจากนักดนตรีและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้นักแต่งเพลงมีวิธีคิดเนื้อร้องที่แตกต่าง เกิดจังหวะที่หลากหลาย และได้เพลงใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากใส่เครื่องดนตรีพื้นบ้านเข้าไปผู้ฟังจะได้รับกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งคล้ายๆ กัน ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเพลงลูกทุ่ง และเพลงเพื่อชีวิต เพราะคนไทยใช้วิธีแบ่งตามเนื้อหาของเพลง แต่หลักสากลใช้ดนตรีเป็นตัวแบ่ง เมื่อนำเพลงหมอลำไปเปิดให้ชาวต่างประเทศฟัง เพลงหมอลำ ก็คือ Funky Music เป็นต้น และมองว่ายุคต่อไปจะเป็นการผสมผสานเพลงเข้าด้วยกันโดยไม่มีการแบ่งแยก เพลงก็คือเพลง และเนื้อเพลงลูกทุ่งจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย พร้อมแนะนำว่านักแต่งเพลงลูกทุ่งที่ดีต้องมีความสามารถในเชิงกลอนจะช่วยให้เพลงกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น คุณตรัย ภูมิรัตน์ (บอย วง Friday) ศิลปินในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค กล่าวว่า การแต่งเนื้อร้องมีกรรมวิธีคัดเลือกนักร้อง โดยเลือกให้เข้ากับบุคลิกเพลง เพื่อให้นักร้องสามารถถ่ายทอดเนื้อร้องและอารมณ์เพลงได้ สำหรับแรงบันดาลใจในการฟังเพลงลูกทุ่งมาจากการเข้าค่ายลูกเสือในสมัยเด็ก ศิลปินเพลงลูกทุ่งที่ชื่นชอบ คือ สายัณห์ สัญญา และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ คุณสุดสรร วงศ์สมุทร (เนย ซับเบอร์เบี้ยน) กล่าวว่า หัวใจของเพลงลูกทุ่งคือ ความจริงใจและได้เล่าถึงผลงาน “แฟนจ๋า” ที่ขับร้องโดย คุณธงไชย แมคอินไตย์ (เบิร์ด) ว่าเป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงแห่ขันหมาก เริ่มต้นจากการคิดดนตรี โดยการผสมผสานความเป็นลูกทุ่งและลูกกรุงเข้าด้วยกัน จากนั้นคุณโจอี้ บอย จึงไปคิดเนื้อร้อง และพัฒนาส่วนเนื้อหาให้เป็น 4 ภาค ส่วนภาคที่คิดได้เป็นอันดับแรก คือ “ภาคอีสาน” คุณเนยแนะนำว่าผู้ที่อยากเป็นนักแต่งเพลง ให้เริ่มจากการเขียนบันทึกประจำวัน ทำไปเรื่อยๆ จนเป็นทักษะ และความชำนาญจะตามมาเอง สำหรับแนวเพลงลูกทุ่งกึ่งลูกกรุงแบบนี้ยังมีไม่มากนักเพราะแต่งค่อนข้างยาก แต่การทำให้เกิดแนวเพลงใหม่ๆ และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ผู้ฟังพร้อมที่จะเปิดใจฟังเพลงลูกทุ่งมากขึ้น คุณคมสัน นันทจิต ผู้ดำเนินรายการ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่สะท้อนสภาพสังคมมากที่สุดหากจะเปรียบเทียบกับเพลงป๊อบที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งกลยุทธ์การแต่งเพลงยังไงให้เรียกความสนใจจากผู้ฟังนั้น ต้องมีแรงบันดาลใจและกลวิธีในการแต่งคำร้อง ด้วยวิธีการหยิบยกเอาเหตุการณ์ หรือสภาพสังคม วิถีชีวิตของผู้คนที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมาแต่งเป็นถ้อยคำร้องที่สละสลวยด้วยลักษณะของบทร้อยกรอง และมีกลวิธีนำเสนอเนื้อหาที่สอดแทรกข้อคิดเห็นเข้าไปในเนื้อเพลง เช่น เพลง “คนบ้านเดียวกัน” แต่งโดยคุณวสุ ห้าวหาญ ที่บอกถึงวิถีชีวิตของคนชนบทที่เข้ามาประกอบอาชีพที่หลากหลายในกรุงเทพฯ ความห่วงหาอาทรที่มีต่อกัน เป็นต้น ภายในงานเสวนายังให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความเห็นและทดลองแต่งเนื้อเพลงขึ้นมาใหม่โดยใช้ทำนองเดิมของเพลงลูกทุ่งชื่อดัง แต่งเสร็จแล้วก็นำมาร้องกันสดๆ และให้วิทยากรช่วยแนะนำ นิทรรศการ “จับไมค์ ใส่ขนนก” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้ — 20 มิถุนายน 2553 วันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 — 18.00 ณ มิวเซียมสยาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขอเชิญร่วมงานเสวนาเรื่อง “ใส่ทำนอง ร้องรำ ทำเพลง” วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม 2553 เวลา 14.00 — 17.00 น. ณ มิวเซียมสยาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พบกับ “ครูลพ บุรีรัตน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาแต่งเพลงลูกทุ่ง “อ.อนันต์ นาคคง” อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร “DJ Maft Sai” ค่ายเพลง “สุดแรงม้าแผ่นเสียง” และ Chris Menist สอบถามรายละเอียดหรือสำรองที่นั่ง โทร 0-2225-2777 ต่อ 414 หรือ 511 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ณัฐกานต์ จันทร์ไทย งานสื่อสารองค์กรและจัดการความรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ โทร. 0 2225 2777 ต่อ 511 หรือ nattakan@ndmi.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ