กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ปส.
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทย์ฯ ครบรอบ 50 ปี เผย “จุดเปลี่ยนผ่าน 5 ทศวรรษ ปส.” เตรียมรับมือวิกฤติพลังงาน เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในพลังงานนิวเคลียร์ เร่งแผนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ แต่งตั้ง “ยุวทูต ปส.” เป็นกระบอกเสียง พร้อมก้าวสู่สากลส่งทีมร่วมวิจัยระดับโลก
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในเรื่องบทบาท หน้าที่กับก้าวต่อไปของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยชูประเด็น “จุดเปลี่ยนผ่าน 5 ทศวรรษ ปส.”
ดร. คุณหญิง กัลยา กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ ปส. ดำเนินงานมาครบรอบ 50 ปี ถือได้ว่าเป็นการให้ความเชื่อมั่นแก่วงการปรมาณูของโลก ว่าประเทศไทยเรามีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านนี้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ปส. เป็นองค์กรสำคัญที่มีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แนวทางและแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานปรมาณูเพื่อการสันติ และกำกับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้และประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจและมาตรฐานสากล
“ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ไทยได้นำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและการศึกษาวิจัยต่างๆ โดย ปส. ออกมาตรการและกฎหมายเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในระดับประเทศ และร่วมในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือ CTBI ในระดับโลกอีกด้วยเพื่อให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยได้นำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในทางสันติเท่านั้น”
พร้อมกันนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนทั่วไปจดจำพลังงานนิวเคลียร์ในแง่ลบ เช่น อาวุธสงคราม อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น หน้าที่สำคัญของ ปส. คือการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจพลังงานนิวเคลียร์กับประชาชนทั่วไป และเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Edutainment ให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่
โดยจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนนิวเคลียร์สัมพันธ์ ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไทยอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ ปส. จะจัดประกวด “ยุวทูตนิวเคลียร์ระดับชาติ” เพื่อให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์ ปส. และเข้าร่วมกิจกรรมในระดับชาติ”
“นอกจากนี้ ปส. ยังขยายบทบาทการบริหารจัดการด้านพลังงานนิวเคลียร์ จากเดิมที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์ แต่ในปลายปีนี้ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่อีกบทบาทหนึ่งของการเป็นผู้นำอาเซียนด้านความปลอดภัยของการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับอาเซียนขึ้นครั้งแรกในประเทศ” ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ดร. คุณหญิง กัลยา กล่าวในตอนท้ายว่า “ปัจจุบันทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ‘พลังงานนิวเคลียร์’ เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก ที่หลายประเทศนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนกันนานแล้ว เช่น เชื้อเพลิงเรือดำน้ำ เรือสินค้า และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันนำมาใช้ในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตร และช่วงนี้ ปส.ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยเสนอให้ทำการศึกษาวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นพลังงานทางเลือกและใช้เพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น”