สถาบันอาหารเตือนภัยแล้ง — โลกร้อนกระทบส่งออกครึ่งปีหลัง คาดสิ้นปี 53 ส่งออกอาหารโตร้อยละ 10 ทะยานถึง 8.3 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2010 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--หอการค้าไทย 3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ ปี 52 ไทยก้าวสู่ผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองแค่จีน แม้มีมูลค่าส่งออก 754,212 ล้านบาท ขยายตัวติดลบร้อยละ 3.1ขณะที่ภาคการผลิตลดลงร้อยละ 4.2 เหตุโดนผลกระทบการหดตัวเศรษฐกิจโลก ขณะที่ไตรมาสแรกปี 53 ภาคส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 ด้วยมูลค่าส่งออก 205,062 ล้านบาท ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 รับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก คาดไตรมาส 2 ส่งออกจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 เทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบจากไตรมาสแรกของปีนี้ด้วยมูลค่า 201,944 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปี 53 ภาพรวมส่งออกอาหารจะโตร้อยละ 10 และก้าวสู่ 830,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก หากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ3 - 4 หลังใช้ข้อตกลงอาฟต้าปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 0 จนเกือบหมด ไตรมาสแรกเพิ่มมูลค่าส่งออกไปอาเซียนได้เกือบร้อยละ 100 เมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือมีมูลค่า 49,220 ล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 4 ตลาดหลักการค้าของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกอาหาร มีน้ำตาลทราย และข้าว เป็นสินค้าชูโรง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากอาเซียนมีมูลค่า 8,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ได้แก่ปลาแช่แข็ง รังนก ปลาทะเลสด เมล็ดโกโก้ ปลาทูน่า เป็นต้น ชี้ภาวะภัยแล้ง-โลกร้อนอาจทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะผลผลิตกุ้ง ผัก ผลไม้ และน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลง อาจกระทบส่งออกครึ่งปีหลัง 29 เมษายน 2553/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงในไตรมาสแรก และปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจนถึงปลายปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ดัชนีภาคการผลิตลดลงร้อยละ 4.2 ส่วนภาคการส่งออกมีมูลค่า 754,212 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 แม้ว่าการส่งออกในปี 2552 จะหดตัวลง แต่การค้าอาหารของไทยก็มีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.47 ขยับจากอันดับที่ 13 มาเป็นอันดับที่ 12 และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน โดยในไตรมาสแรกของปี 2553 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 โดยดัชนีภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ขณะที่ภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.2 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะดีขึ้นกว่านี้ถ้าเราจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอันเนื่องมาจากภัยแล้ง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผักที่เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกลดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าหลัก คือ ข้าว กุ้งแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป ผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูป น้ำตาลทราย มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม เป็นต้น “อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีมูลค่า 201,944 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ก็มีความเสี่ยงเนื่องจากภัยแล้งที่อาจจะทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะผลผลิตกุ้ง และผลไม้สดที่ปกติจะออกสู่ตลาดมากในช่วงนี้ เช่นเดียวกับ น้ำตาลทราย ก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามีการเร่งตัดอ้อยอาจจะทำให้ค่าความหวานของน้ำตาลลดลง ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงตามไปด้วย และถ้าประเทศไทยยังประสบปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงต่อไป อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคการส่งออกครึ่งปีหลังได้ ส่วนภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 2553 นั้น มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3 - 4 และค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกอาหารไทยปีนี้จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 830,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2552” นายเพ็ชร กล่าว ด้านนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงภาวะอุตสาหกรรมอาหารของไทยภายหลังมีการปรับลดอัตราภาษีภายใต้เขตเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นร้อยละ 0 จนเกือบหมดตั้งแต่ต้นปี 53 เป็นต้นมา ว่า ปัจจุบันอาเซียนถือเป็น 1 ใน 4 ตลาดหลักทางการค้าของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 24 ของมูลค่าส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 และที่เหลืออีกร้อยละ 76 เป็นการส่งออกไปยังประเทศนอกอาเซียน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป แอฟริกา เป็นต้น โดยไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา การส่งออกอาหารไทยไปยังอาเซียนมีมูลค่า 49,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย พิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ส่วนการนำเข้าอาหารจากอาเซียนมีมูลค่า 8,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สัดส่วนนำเข้าจากอาเซียร้อยละ 14.6 โดยมีตลาดนำเข้าหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดอาเซียน ได้แก่ น้ำตาลทราย มีสัดส่วนร้อยละ 34.2 รองลงมา คือ ข้าว มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 17.8 ซึ่งสินค้าทั้งสองมีสัดส่วนส่งออกรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนสินค้าอาหารอื่นๆ มีมูลค่าส่งออกไม่มาก สินค้านำเข้าของไทยจากอาเซียนส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ เช่น ปลาแช่แข็งรังนก ปลาทะเลสด เมล็ดโกโก้ ปลาทูน่า เป็นต้น สำหรับปัญหาโลกร้อนที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลเฉพาะด้านพืชผลทางการเกษตรที่ผลผลิตลดลงเท่านั้น แต่ได้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่จะต้องหามาตรการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ผลิตก็ควรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย “ปัญหาโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยอาหาร (Food safety) เพราะโลกร้อนจะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไป มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและมีสารเคมีตกค้างในห่วงโซ่อาหาร เชื้อโรคและสารพิษอาจแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้น มาตรฐานอาหารที่มีอยู่เดิมจึงไม่อาจใช้ยืนยันความปลอดภัยได้ ประเทศไทยควรมีแนวทางการปรับตัวเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จำแนกความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารทั้งประเด็นที่เกิดใหม่และความเสี่ยงเก่าที่อาจเกิดขึ้นใหม่ มีการพัฒนาระบบการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มบทบาทของเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต จัดทำระบบจัดการของเสีย (Waste Management) ในโรงงานแปรรูปอาหารให้มีประสิทธิภาพ ผลักดันประเด็น Carbon Footprint และWater Footprint เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติรองรับมาตรการของประเทศคู่ค้าในอนาคต มีมาตรการรองรับหากผู้ประกอบการรายเล็กหากมีความประสงค์จะจัดทำระบบการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นายอมร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ