กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--คสช.
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบเสนอครม. ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกระดับชาติทำหน้าที่พัฒนาระบบการเงินการคลังของระบบประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพได้ด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศในระยะยาว โดยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติขึ้นในการจัดตั้งกลไกดังกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการจัดทำข้อเสนอเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาระการเงินการคลังด้านสุขภาพ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและสถานการณ์ด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้จะทำให้ระบบนี้มีความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพได้ด้วย สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการนั้นให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งจะสามารถบริหารและตัดสินใจรวมทั้งประสานทุกฝ่ายในสังคมได้ โดยมีรมต.กระทรวงการคลังและรมต.กระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
“ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ได้มีการประชุมหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่หากมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา จะทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นระบบมากขึ้น สามารถสร้างมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกันทุกระบบและเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” ประธานคสช.กล่าว
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคสช. ให้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพโดยครอบคลุมทั้งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึง พรบ.คุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถพ.ศ.2535 เนื่องจากแต่ละระบบมีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในการใช้บริการที่แตกต่างกัน ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการจัดการที่ดี จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ประเทศไม่อาจแบกรับภาระได้ไหวในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ได้กำหนดไว้ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุ “ให้รัฐจัดให้มีกลไกระดับชาติทำหน้าที่วางแผนการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว ติดตามประเมินผล รวมถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ”
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า กลไกดังกล่าวจะเน้นทำงานเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนผู้มีสิทธิในแต่ละระบบประกันสุขภาพ โดยมีการใช้ข้อมูลความรู้ในการพัฒนาข้อเสนอทางเลือกต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน สวรส. ได้เริ่มประสานการเชื่อมโยงข้อมูลของทั้งสามระบบประกันสุขภาพเพื่อการวิเคราะห์ปัญหาและการกำกับติดตามผลการพัฒนาในด้านต่างๆ แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา “ศูนย์พัฒนาระบบการจ่ายเงินสถานพยาบาลตามกลุ่มโรค (case mix centre)” เพื่อสนับสนุนผู้บริหารกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ มีทางเลือกรูปแบบการจ่ายเงินสถานพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ ได้ในที่สุด
ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307
เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-590-2307
ธนิษฐ์ สุคนธนิกร (ต๊ะ) 02-590-2483
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ