ปภ.แนะขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัยลดอุบัติเหตุทางถนนได้

ข่าวทั่วไป Thursday April 29, 2010 12:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปภ. จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงเทศกาลและช่วงปกติ พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสภาพรถจักรยานยนต์มีการทรงตัวที่ไม่ดีนัก ปราศจากการหุ้มเกราะและสามารถใช้ความเร็วสูงได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำง่าย และไม่มีอุปกรณ์ใดที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ ประกอบกับผู้ขับขี่ส่วนใหญ่มักไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร และไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะวิธีขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ดังนี้ ก่อนเดินทาง ผู้ขับขี่ควรศึกษาวิธีการขับขี่และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงตรวจสอบรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเติมลมยางให้มีค่าตามที่กำหนด โซ่รถไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป ระบบเบรก สัญญาณไฟ กระจกมองข้างอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ดี ห้ามนำรถจักรยานยนต์ไปดัดแปลงสภาพหรือถอดอุปกรณ์ส่วนควบออก ไม่ดัดแปลงเครื่องยนต์ให้แรงขึ้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ขณะเดินทาง สวมใส่หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุมีความเสี่ยงที่ศีรษะจะกระแทกกับพื้นถนนหรือวัตถุต่างๆ ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและสมอง ส่งผลให้พิการทุพพลภาพหรือเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หมวกนิรภัยจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะได้ ไม่ซ้อนท้ายรถจักรยานต์เกินกว่าหนึ่งคนหรือบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ ทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง สำหรับวิธีการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกต้อง ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม เพื่อป้องกันชายเสื้อผ้าพันเข้าไปในซี่ล้อรถจักรยานยนต์ จนเป็นเหตุให้ตกจากรถหรือเกิดอุบัติทางถนน หากนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรให้เด็กนั่งด้านหลังแบบนั่งคร่อมไม่ควรให้เด็กนั่งด้านหน้าผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันการเบรกกะทันหัน ทำให้เด็กกระแทกกับแฮนด์บังคับรถ จนได้รับบาดเจ็บได้ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถย้อนศร ไม่ขับขี่ในลักษณะผาดโผน ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง โดยระดับความเร็วที่ปลอดภัยต้องไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นระดับที่หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานสามารถรองรับแรงกระแทกได้กรณีเกิดอุบัติเหตุ เว้นระยะห่างจากรถคันอื่นให้พอเหมาะ ก่อนเปลี่ยนช่องทาง หยุดรถ หรือเลี้ยวรถ ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้า ไม่เร่งความเร็ว เพื่อฝ่าสัญญาณไฟจราจร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการชนในลักษณะประสานงา ดังนั้น เมื่อผู้ขับขี่เห็นสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเหลืองให้ชะลอความเร็วลงและหยุดรถบริเวณหลังเส้นรอจนกว่าสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียวจึงค่อยขับรถไปต่อ นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทก่อนขับขี่ เพราะจะทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลง รวมถึงให้เปิดไฟหน้ารถจักรยานยนต์ในเวลากลางวัน จะทำให้เห็นรถคันอื่นได้ในระยะไกล ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถคาดคะเนทิศทางรถที่สวนมาได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการชนแบบประสานงาและการชนด้านหน้าแนวเฉียง ที่สำคัญ ผู้ขับขี่ควรปฎิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และขับขี่ด้วยความไม่ประมาทจะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ในระดับหนึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ