“ปาเกอญอ” ห้วยปูลิง ต้นแบบชุมชนแก้ปัญหาป่า-คน ด้วยข้อมูล

ข่าวทั่วไป Thursday May 3, 2007 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สกว.
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกตอกย้ำให้เราต้องตระหนักและสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติมากขึ้น กันพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน และความจริงที่ต้องยอมรับเช่นกันคือ มีคนจำนวนไม่น้อยอาศัยหาอยู่หากินในพื้นที่ป่า และที่ดินทำกินนี้เองเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐเรื่อยมา เนื่องจากที่ดินทำกินทั้งหมดอยู่ในเขตอนุรักษ์ที่มีกฎหมายห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่
มีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่ก็ยังไม่เกิดแนวทางที่ชัดเจน จากข้อมูลและความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของหลายฝ่าย จนเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมาจากการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ภายใต้โครงการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการของราษฎร จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการสนับสนุนของ ศตจ.ชาติ และ สกว. ทำให้เกิดข้อมูลชัดเจนที่ยอมรับกันว่าปัญหาหลักของคนบนที่สูงคือปัญหาพื้นที่ทำกินอยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องหาทางแก้ไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ เป็นงานที่ภาคราชการจะต้องหาทางแก้ปัญหาทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติของคนบนพื้นที่สูงเหล่านี้อยู่แล้วบางส่วน
ตัวอย่างชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่า “ปาเกอญอ” ตำบลห้วยปูลิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอบต. เป็นแกนหลักร่วมกับภาควิชาการนำโดย ผศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา สำนักประสานงานเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ของ สกว. และ ผศ.ดร.สาวิตร มีจุ้ย สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ทำการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือนและทรัพยากรใน 3 หมู่บ้านของตำบลห้วยปูลิง ในโครงการนำร่องเรื่อง การพัฒนาและใช้ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยผลการดำเนินงานที่ให้ชุมชนทำและมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทำให้ได้ฐานข้อมูลชุมชนทั้งด้านข้อมูลครัวเรือนและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกิดการยอมรับร่วมกัน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงสิ่งที่เป็นศักยภาพและปัญหาของชุมชน คือ ชุมชนมีปัญหาพื้นฐาน เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและสุขอนามัย จากระบบการผลิตที่เป็นอยู่ยังเป็นแบบไร่หมุนเวียน ผลิตอาหารได้ไม่พอเพียงกับการบริโภค พบข้อมูลพื้นที่ทำกินยังเพิ่มสูงขึ้นไปตามจำนวนครัวเรือนในหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองขาว มีสัดส่วนพื้นที่ทำกินรวม 8,762 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำกสิกรรม 155 แปลง สำหรับประชากร 63 ครัวเรือน บ้านห้วยฮี้ มีสัดส่วนเป็น 4,187 ไร่ จำนวน 77 แปลง สำหรับประชากร 23 ครัวเรือน และบ้านห้วยไม้ดำ มีสัดส่วนเป็น 3,913 ไร่ จำนวน 214 แปลง สำหรับประชากร 37 ครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งที่ดินทำกินนี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน เนื่องจากที่ดินทำกินทั้งหมดอยู่ในเขตอนุรักษ์ที่มีกฎหมายห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่
แทบทุกครัวเรือนมีการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร(เป็ด ไก่ หมู) และสัตว์เศรษฐกิจ(วัว ควาย) แต่ก็มีปัญหาด้านโรคระบาด ซึ่งชุมชนยังไม่มีความรู้ในการป้องกันแก้ไขที่ถูกต้อง และแทบทุกครัวเรือนในหมู่บ้านมีกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ จึงมีปัญหาทั้งในด้านสุขอนามัยและในด้านรายได้อันพึงที่จะเกิดขึ้นของครัวเรือน เมื่อดูความเห็นในภาพรวมทั้งหมู่บ้านให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นอันดับหนึ่ง แต่ทุกหมู่บ้านก็ต้องการใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความต้องการที่มีความขัดแย้งกันอยู่
ผศ.ดร.สาวิตร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ให้ชุมชนได้มีพอใช้สำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน โดยยึดความเป็นอยู่อย่างพอเพียงนั้น จำเป็นต้องมองทุกประเด็นของปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขไปพร้อม ๆ กันอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสม ทั้งในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำ การผลิตอาหารที่อาจจะต้องมีการจัดการให้การใช้พื้นที่ดินทำกินมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในครัวเรือนต่าง ๆ ด้วย การพัฒนาฐานข้อมูลครัวเรือนและทรัพยากรของชุมชน จึงมีความสำคัญมากในการยกระดับความเป็นอยู่ของครัวเรือนและของชุมชน เนื่องจากจะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่ายังมีปัญหาในด้านใดบ้าง และในหลายกรณีจะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร
“ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่นั้นมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากชุมชนมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนเผ่าที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งบางเรื่องก็อาจไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางราชการ เช่น การใช้ที่ดินทำกินซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน เป็นวิถีปฏิบัติตามวิถีชีวิตท้องถิ่นมาเป็นเวลานับร้อยปี ซึ่งปัจจุบันนอกจากพื้นที่เหล่านี้จะอยู่ในเขตต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่ได้ผลผลิตไม่พอเพียงกับการบริโภค ด้วย ปัญหาด้านการผลิตในสมัยก่อนก็อาจแก้ไขได้ไม่ยากโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบัน เป็นต้น” ผศ.ดร.สาวิตร กล่าว
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะสามารถวิเคราะห์และระบุปัญหาได้จากข้อมูลครัวเรือนก็ตาม การนำผลที่ได้ไปเปลี่ยนให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมนั้น ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วย ทั้งจากภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่ จากองค์กรที่มีหน้าที่บริหารจัดการท้องถิ่น (อบต.,กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน) จากหน่วยงานราชการระดับที่สูงขึ้นไป (อำเภอ หน่วยงานป่าไม้ต่าง ๆ )
ณ วันนี้ ชุมชนตระหนักว่าการมี “ข้อมูล” ที่มาจากข้อเท็จจริงที่ยอมรับร่วมกันทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาควิชาการสนับสนุนนั้น จะเป็นทางออกที่สามารถคลี่คลายปัญหาของพื้นที่ลงได้ รวมทั้งสร้างหลักฐานที่เป็นจริง อย่างเช่น แผนที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าของชุมชน ที่แสดงให้เห็นขอบเขตที่ของพื้นที่สำหรับเพาะปลูกของชุมชน ที่จะทำให้เกิดการพิจารณาบนข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริง
“พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนนั้นในแต่ละหมู่บ้านเรารู้กันว่าแปลงของใครอยู่ตรงไหน ที่เป็นปัญหาคือเราไม่สามารถชี้ได้ว่าแปลงของใครอยู่ตรงไหน พื้นที่เท่าไหร่ เมื่อมาทำระบบฐานข้อมูลฯซึ่งคนแต่ละหมู่บ้านไปเดินลากเส้นร่วมกันกำหนดจุดไปเลยว่าแปลงของใครอยู่ตรงไหน การนำโปรแกรมระบบฐานข้อมูลฯ ซึ่งเป็นความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้สามารถแสดงออกมาเป็นแผนที่ที่เห็นได้ชัดเจนทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะสามารถยืนยันกับทางราชการได้” นายพะเยละ สุขโพธิญาณ กำนันตำบลห้วยปูลิง กล่าว พร้อมกับบอกว่า แผนที่จะช่วยยืนยันว่าชาวบ้านใช้พื้นที่เท่าไหร่ในการอยู่และทำมาหากิน ถึงแม้จะทำไร่หมุนเวียนก็ไปสำรวจไปปักที่ไว้ให้ชัดเจน อย่างน้อย ๆก็มีข้อมูลไว้และชี้แจงได้ เป็นหลักฐานรูปธรรมที่สามารถยืนยันได้ว่าเราอยู่ที่ไหน อย่างไร ใช้พื้นที่ป่ามากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการดูแลรักษาป่าอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าทางราชการเองก็อยากได้ข้อมูลเหล่านี้เช่นกัน
นายไชยา ประหยัดทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง กล่าวว่า ระบบการถือครองที่ดินในชุมชนเป็นการถือครองตามจารีตประเพณี มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษผู้บุกเบิกที่ทำกินในระบบไร่หมุนเวียนของชุมชน แต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายรองรับ ในการจัดการถือครองที่ดินนั้น ชุมชนจะใช้ครัวเรือนเป็นหน่วยในการจัดการถือครองที่ดินโดยคนในหมู่บ้านจะมีพื้นที่แปลงใหญ่ (แปลงรวม) ที่ใช้ทำไร่หมุนเวียนร่วมกัน ซึ่งถือเป็น “สมบัติส่วนรวม” ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน จากนั้นจะมีการตกลงจัดสรรที่ดินให้แต่ละครัวเรือนเท่า ๆ กันให้ทำกินไปชั่วลูกชั่วหลาน ไม่เป็นสิทธิขาดของผู้ใด และห้ามขายให้คนนอกชุมชน ให้ใช้สำหรับปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ สำหรับเพียงพอต่อการดำรงชีวิตตลอดปีเป็นหลัก
“สำหรับปัญหาที่ทำกินคนห้วยปูลิงไม่ได้อยากได้สิทธิรายบุคคล แต่อยากได้สิทธิทำกินรวมในพื้นที่เดิม (โฉนดแปลงรวม) ให้เราอยู่ในที่เดิมให้ดูแลรักษาป่าไว้ให้ได้อย่างดี และไม่ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็มีแผนที่เป็นหลักฐานยืนยันอย่างหนึ่งที่ในชุมชนก็มีความชัดเจนขึ้น ” นายไชยา กล่าว
ด้านผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาที่ดินและป่าไม้ที่ดิน กล่าวว่า การมองเห็นปัญหาของแม่ฮ่องสอนอาจจะเป็นกรณีตัวอย่างที่เร่งให้มีการพิจารณาในเชิงนโยบายเพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ การใช้มาตรการกฎหมายสำหรับบางกรณีอาจยังจำเป็นต้องใช้อยู่ ขณะเดียวกันชุมชนเองควรจะช่วยราชการในแง่ที่ว่า หากคนส่วนน้อยมาทำให้คนส่วนใหญ่เสียชื่อ ชุมชนเองก็ต้องช่วยกันดูแล เพื่อไม่ให้เสียชื่อและไม่ให้ถูกเหมารวมทั้งชุมชน ดังนั้นชุมชนจึงต้องช่วยในการกำกับดูแลกันเองด้วยส่วนหนึ่ง ขณะที่ในส่วนราชการในเชิงนโยบายก็กำลังมีการเคลื่อนไหวผลักดันกันอยู่ เช่นการแก้ไขบางมาตราของกฎหมายอุทยานฯ และบางมาตราของกฎหมายป่าไม้ เป็นต้น
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สกว. กล่าวว่า การทำงานร่วมกันของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาควิชาการนั้น จะทำให้ได้ข้อมูลที่เห็นทางไปเพื่อการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง การพิสูจน์สิทธิ์ ว่าใครอยู่ก่อนอยู่หลังอย่างไร และสอง คือกรณีถึงพิสูจน์สิทธิแล้วไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องมีการแก้กฎหมายซึ่งขณะนี้กำลังเสนอแก้กันอยู่ในทางนโยบาย ผลที่ได้จากการทำงานร่วมกันเป็นหลักฐานหรือข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วย
จะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนที่ “ห้วยปูลิง” คือ ชุมชนมีความเชื่อมั่น ตระหนักในการแสวงหาและใช้ข้อมูลเป็นฐานในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนซึ่งมีหลายระดับ โดยในเบื้องต้นชุมชนเอง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนได้ และสามารถส่งต่อข้อมูลนี้เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ชุมชนไม่สามารถจัดการได้เอง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบายซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบที่เป็นไปได้ ว่าการจะอยู่ในเขตป่าและมีกฎหมายรองรับจะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ขณะที่ในด้านวิชาการเพื่อให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงมีการขยายพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมอีก 6 ตำบลของอำเภอเมือง คือ ปางหมู ผาบ่อง หมอกจำแป่ ห้วยโป่ง ห้วยผา และเทศบาลเมือง.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ