กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
สภากทม. เห็นชอบให้กทม. เดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งระบบขนส่งมวลชนระบบหลักสายที่ 1 หมอชิต — ลำลูกกา สายที่ 2 แบริ่ง — บางปู และระบบรองสายบางนา — สุวรรณภูมิ ด้านคณะสมาชิกสภากทม. แนะผู้บริหารกทม. ควรมีการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2553 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม.
ในที่ประชุม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบหลักสายที่ 1 หมอชิต — ลำลูกกา สายที่ 2 แบริ่ง — บางปู และระบบรองสายบางนา — สุวรรณภูมิ ในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียวส่วนขยายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 เม.ย.53 ณ ห้องพุทธสถาน กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ในการนี้กรุงเทพมหานครได้ขอยืนยันถึงความเป็นเจ้าของโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ซึ่งเห็นชอบในหลักการโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรางให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบส่วนต่อขยายสายสีเขียว และผลการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ประกอบกับกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อพิจารณาคัดเลือกและดำเนินการในเส้นทางที่เหมาะสม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มว่า กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินงานโครงการระบบ ขนส่งมวลชนระบบรองของกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรนำเสนอที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงการดำเนินงานในโครงการนี้ว่า หากกรุงเทพมหานครดำเนินโครงการเหล่านี้สำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณนอกเขตกรุงเทพมหานครในการเพิ่มช่องทางการเดินทาง เพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครด้วย นอกจากนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งโครงการเล็กและโครงการใหญ่ ควรมีการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรทำการประเมินผล การดำเนินงานทั้งหมด เพื่อให้ได้รับข้อมูลของประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ได้จากการดำเนินงานจากโครงการเหล่านี้ ทั้งนี้ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบในหลักการเพื่อให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินต่อไป